กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--มรภ.สงขลา
"ทำไมต้องรำแดง" สู่ "อะไรๆ ก็รำแดง" เป็นบทความที่ปรากฏบนหน้า Facebook ที่ อาจารย์ศดานนท์ วัตตธรรม หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา ตั้งใจเขียนบอกเล่าเหตุผลของการนำนักศึกษาไปลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ อบต.รำแดง เก็บเกี่ยวประสบการณ์การบริหารชุมชน และศึกษาโครงการพัฒนาท้องถิ่นแบบยั่งยืน เพื่อนำไปเป็นแนวทางคิดทำโครงการต่อไปได้
อาจารย์ศดานนท์ เล่าว่า เมื่อช่วงต้นปีที่แล้วได้มีโอกาสนำนักศึกษาหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เข้าศึกษาดูงานภายใต้โครงการสิงห์สมิหลาพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากที่นี่มีฐานการเรียนรู้ตามวิถีโหนด นา ไผ่ คน ครบทุกองค์ประกอบในพื้นที่ ในปีนี้ก็เช่นเดียวกัน ตนได้นำนักศึกษารุ่นถัดไปเดินทางไปศึกษาเรียนรู้ที่ชุมชนรำแดงอีกครั้ง โดยที่ไม่กังวลว่านักศึกษาจะได้ความรู้กลับไปหรือไม่ หรือจะได้เพียงความรู้เดิมเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะการมารำแดงแต่ละครั้งมีกิจกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ
จากจุดเริ่มต้นที่ผู้บริหารท้องถิ่นต้องการให้รำแดงเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ พัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งกลายเป็นชุมชนต้นแบบที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นที่ไว้วางใจจากทุกหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ (โครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หมู่บ้านช่อสะอาด (ป.ป.ช.) OTOP นวัตวิถี (กรมพัฒนาชุมชน) และอื่นๆ มาจนถึงโครงการคืนคลองสวยทั่วไทยฯ (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) ซึ่งมีการเปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา
"เท่ากับว่าการมารำแดงแต่ละครั้ง พวกเราได้เติมเต็มความรู้ในการบริหารจัดการท้องถิ่นอยู่เสมอ และเชื่อว่ายังคงต่อยอดจากความรู้ที่มีอยู่ในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเพราะทุกส่วนของการพัฒนาล้วนเกิดจากการค้นคว้าวิจัย จนตกผลึกบนพื้นฐานความเข้าใจในสภาพพื้นที่และคนในชุมชนของผู้บริหารท้องถิ่นเป็นอย่างดี หลังจากนี้ชื่อของรำแดง จะยังคงเป็นชุมชนที่น่าเชิญชวนให้ใครต่อใครเข้ามาชื่นชมความสำเร็จ และเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการควบคู่ไปด้วยกัน" อาจารย์ศดานนท์ กล่าว
ชนิสรา ศรีสุวรรณ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานโยบายสาธารณะและการวางแผน เล่าว่า ที่นี่คือชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เกิดจากความเป็นอยู่ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และการอยู่ร่วมกันโดยยึดหลักยุทธศาสตร์ในการพัฒนาท้องถิ่น 10 แนวทาง เริ่มจากการสร้างสังคมเข้มแข็งทั้งปัจจัยภายในและภายนอก ด้วยวิธีส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวสร้างเศรษฐกิจเข้มแข็ง พร้อมส่งเสริมดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยโครงการหลากหลาย อาทิ โครงการใช้พลังงานจากสิ่งที่มีในชุมชน ทำก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ทำแผ่นผนังจากใบตาลโตนด มีการสร้างระบบการศึกษาภายในชุมชน เช่น การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ระบบสุขภาพชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบล และการวิจัยเพื่อพัฒนาภายใต้อัตลักษณ์ โหนด นา ไผ่ ซึ่งตนและเพื่อนๆ ในกลุ่ม สามารถนำเอาแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในการสร้างความร่วมมือกับนักเรียน ร.ร.บ้านบางดาน และการได้เห็นตัวอย่างสภาวะผู้นำ ทำให้เห็นถึงแนวทางที่จะดำเนินโครงการของตัวเองจนบรรลุวัตถุประสงค์ได้
ด้าน ณัฐวุฒิ ทองปาน นักศึกษาชั้นปีที่ 3 อีกคนหนึ่ง เล่าบ้างว่า อบต.รำแดง เป็นชุมชนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแนวคิดในการจัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้คนในชุมชน ตนและเพื่อนๆ เก็บเกี่ยวความรู้อย่างเต็มที่จากการฟังบรรยายในแต่ละฐานการเรียนรู้ทั้ง 7 ฐาน ซึ่งทางชุมชนจัดทำขึ้นให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาเยี่ยมชม ทั้งภูมิปัญญาการแปรรูป ชิมอาหารจากตาลโตนดของครัวรำแดง ดูบ้านใบตาลรูปแบบบ้านของคนสมัยโบราณในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ก่อนเข้าซุ้มวัดป่าขวาง เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น ศึกษาเกษตรกรรม 9 พืชผสมผสานตามแนวเศรษฐกิจความพอเพียง และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้วิถีวัฒนธรรม โหนด นา ไผ่ คน ซึ่งตนเชื่อว่าความรู้เหล่านี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของคนในชุมชน และการยอมรับเชื่อถือในตัวผู้นำที่กล้าคิดกล้าทำ รู้วิธีการจัดสรรนำทรัพยากรมาต่อยอดเกิดเป็นการพัฒนา และสร้างความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิดตัวเอง
นึกย้อนไปตั้งแต่ตอนเปิดเรื่องจากวลี "อะไรๆ ก็รำแดง" ของอาจารย์ศดานนท์ ตอนนี้คงได้คำตอบแล้วว่า ด้วยความเข้มแข็งของคนในชุมชนหางนี้ ทำให้ อบต.รำแดง กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีผลงานต่อเนื่อง และสามารถนำไปเป็นแนวทางในการคิดโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาพัฒนาชุมชนอื่นๆ ได้อีก และนี่คงคงเป็นเหตุผลว่าทำไม สิงห์สมิหลา มรภ.สงขลา ถึงต้องไป "รำแดง" เพราะพวกเขาต้องการเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศชาติต่อไปนั่นเอง