กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 3.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 56.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 3.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 4.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- การเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ เริ่มต้นขึ้นแล้วที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 62 ต่อเนื่องจากเจรจาที่กรุงปักกิ่งสัปดาห์ก่อนหน้า ประธานาธิบดีนาย Donald Trump ระบุว่าการเจรจาคืบหน้าใกล้จะบรรลุ "Real Trade Deal" และอาจเลื่อนกำหนดเส้นตายเก็บอากรสินค้าขาเข้าจากจีน (1 มี.ค. 62) ส่งผลให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกรวมทั้งน้ำมันกระเตื้องขึ้น
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.พ. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 853 แท่น ลดลงครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์
- สมเด็จพระราชาธิบดี Salman bin Abdulaziz Al Saud แห่งซาอุดิอาระเบียสนทนาทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดี Vladimir Putin แห่งรัสเซีย โดยต่างให้คำมั่นว่าสนับสนุนความร่วมมือในตลาดพลังงาน อนึ่งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee) รายงานผลสำรวจระดับความร่วมมือในการลดกำลังการผลิต (Compliance Rate) ในเดือน ม.ค. 62 อยู่ที่ระดับ 83%
- ICE รายงานสถานการณ์ลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ก.พ. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9,392 สัญญา มาอยู่ที่ 275,449 สัญญา
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 24 ก.พ. 62 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย Saudi Aramco รายงานแหล่งน้ำมัน Safaniyah ซึ่งเป็นแหล่งผลิตนอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (กำลังการผลิตน้ำมันดิบรวมกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการผลิต หลังหยุดดำเนินการตั้งแต่เกิดอุบัติเหตุเรือทอดสมอเกี่ยวสายไฟฟ้าช่วงต้นเดือน ก.พ. 62
- TransCanada Corp. รายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบ Keystone (กำลังการสูบถ่าย 590,000 บาร์เรลต่อวัน) จากรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ไปยังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ กลับมาดำเนินการวันที่ 19 ก.พ. 62 หลังเหตุน้ำมันรั่ว ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. 62 อนึ่งรัฐ Alberta ประกาศแผนจัดหาโบกี้รถไฟบรรทุกน้ำมันดิบ 4,400 คัน เพื่อเพิ่มปริมาณส่งออก คาดว่าปริมาณขนส่งน้ำมันทางรถไฟจะเพิ่มขึ้นเพิ่ม 20,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. 62 และ เพิ่มเป็น 120,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2563
- Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 454.5 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี และการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน ทำสถิติอยู่ที่ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรก
- Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 62 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6,330 สัญญา มาอยู่ที่ 145,509 สัญญา ทั้งนี้ CFTC รายงานย้อนหลังในช่วงที่เกิด Partial Government Shutdown ในสหรัฐฯ ทำให้ประกาศข้อมูลล่าช้ากว่า ICE
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองที่ดีขึ้นเกี่ยวกับการเจรจาการค้า หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump เผยว่าจะขยายกำหนดเส้นตายในการปรับขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมในวันที่ 1 มี.ค. 62 ออกไป หากสหรัฐฯ และจีนสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันเพื่อยุติสงครามการค้าได้ ทั้งนี้ Trump คาดว่าจะได้พบกับประธานาธิบดีจีน นาย Xi Jinping ในเดือน มี.ค. 62 ที่รัฐ Florida สหรัฐฯ เพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้าในขั้นสุดท้ายร่วมกัน นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid Al-Falih กล่าวว่า OPEC คาดหมายว่าตลาดน้ำมันจะเข้าสู่ภาวะสมดุลภายในเดือน เม.ย. 62 ซึ่งปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์โลกจะลดลงใกล้เคียงกับระดับค่าเฉลี่ยห้าปีอย่างไรก็ดี ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ 15 ก.พ. 62 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ที่ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าคาดการณ์เดิมที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ยในปี พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2563 จะอยู่ที่ 60.0 – 65.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 55.0-60.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-69.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากบริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อ น้ำมันเบนซิน 88 RON ปริมาณรวม 1.6 ล้านบาร์เรล ส่งมอบในเดือน มี.ค. 62 และ Bloomberg รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระของจีน เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 0.1 % อยู่ที่ระดับ 65.1% คิดเป็นปริมาณน้ำมันดิบเข้ากลั่น 1.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับโรงกลั่นหลายแห่งประสบปัญหา อาทิ โรงกลั่นน้ำมันในเวเนซุเอลาเดินเครื่องอยู่ที่ระดับ 23% ช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 62 เพราะมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ซ้ำเติม ทำให้ PDVSA ขาดเงินทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ปี 61 กลั่นน้ำมันเฉลี่ยที่ระดับ 30%) ล่าสุดต้องนำเข้าน้ำมันเบนซิน จากสเปนและประเทศแถบ Caribbean ขณะที่โรงกลั่น Milazzo (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ในอิตาลีปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ. 62 เนื่องจากเหตุขัดข้องทางเทคนิค และโรงกลั่น Port Arthur (กำลังการกลั่น 225,500 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Total ในรัฐ Texas ของสหรัฐฯ ปิดดำเนินการ Crude Distillation Unit (CDU –150,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วย Fluidic Catalytic Cracking Unit (FCCU – 76,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่ขัดข้องตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 62 และ บริษัท PBF Energy เลื่อนกำหนดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Paulboro (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐ New Jersey ของสหรัฐฯ จากไตรมาส 3/2562 มาเป็นไตรมาส 2/2562 เพื่อเตรียมความพร้อมผลิตน้ำมันรองรับมาตรการ IMO 2020 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 256.8 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน อย่างไรก็ตาม องค์การรถยนต์โดยสารของจีน (China Passenger Car Association) รายงานยอดขายรถยนต์ในจีน เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 4% อยู่ที่ระดับ 2.18 ล้านคัน และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 840,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 17.30 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66.5-71.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Platts รายงานโรงกลั่น Tianjin ในจีน (กำลังการกลั่น 276,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec มีแผนส่งออกน้ำมันดีเซลลดลงจากเดือนก่อน 25% ปริมาณ 32,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 62 (คิดเป็น 62% ของปริมาณการผลิต) และCeylon Petroleum Corp. (Ceypetco) ของศรีลังกา ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล 0.05 %S ปริมาณ 150,000 บาร์เรล ส่งมอบ 27-28 มี.ค. 62 ประกอบกับ บริษัท CNOOC ของจีนประกาศปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Huizhou (กำลังการกลั่น 440,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 62 และโรงกลั่น Jurong ในสิงคโปร์ของบริษัท Exxon Mobil Corp. ประกาศปิดซ่อมบำรุง CDU (กำลังการกลั่น 302,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 62 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ก.พ. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 138.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซล เดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 36.21% อยู่ที่ 2.86 ล้านบาร์เรล และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซลของอินเดีย เดือน ม.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 4% อยู่ที่ 1.74 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้ง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.พ. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 770,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 12.2 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 79.5-84.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล