กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ธนาคารเกียรตินาคิน
บลจ.ภัทร ชูกลยุทธ์การลงทุน Phatra Asset Allocation พร้อมด้วยมุมมองการลงทุนที่เฉียบคมจาก บล.ภัทร ตอกย้ำความสำเร็จจากกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสแซ็ทอโลเคชั่น (PHATRA SG-AA) ที่ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเติบโตกว่าหมื่นล้าน พร้อมเปิดเพิ่มอีก 2 กองทุน ตอบสนองต่อเป้าหมายการลงทุนและความสามารถในการรับความเสี่ยงได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมเปิด IPO วันที่ 4-8 มี.ค. นี้
นายยุทธพล ลาภละมูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร จำกัด (บลจ. ภัทร) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม 2562 บลจ.ภัทร จะเปิดเสนอขายกองทุนใหม่อีก 2 กองทุน ได้แก่ กองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสแซ็ทอโลเคชั่น-Light (PHATRA SG-AA Light) และกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสแซ็ทอโลเคชั่น-Extra (PHATRA SG-AA Extra) ซึ่งทั้ง 2 กองทุนมีการลงทุนแบบ Asset Allocation หรือกระจายการลงทุนไปในทรัพย์สินต่างๆ เหมือนกับกองทุน PHATRA SG-AA แตกต่างกันที่กลยุทธ์การจัดสัดส่วนในการกระจายการลงทุนในแต่ละประเภททรัพย์สินที่สะท้อนความเสี่ยงในระดับที่แตกต่างกัน โดยกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสแซ็ทอโลเคชั่น-Light (PHATRA SG-AA Light) จะมีกลยุทธ์กระจายการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 51% ตราสารทุนในประเทศและต่างประเทศรวมประมาณ 24% ตราสารทางเลือกประมาณ 10% เช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ น้ำมัน และที่เหลือเป็นส่วนของเงินสดเพื่อสภาพคล่องของกองทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง ส่วนกองทุนเปิดภัทร สตราทิจิคแอสแซ็ทอโลเคชั่น-Extra (PHATRA SG-AA Extra) จะมีกลยุทธ์กระจายการลงทุนในตราสารหนี้ประมาณ 5% ตราสารทุนในประเทศและต่างประเทศรวมประมาณ 76% ตราสารทางเลือกเช่น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ น้ำมัน ประมาณ 15% และที่เหลือเป็นส่วนของเงินสดเพื่อสภาพคล่องของกองทุน เหมาะสำหรับนักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้สูงมาก
ทั้งนี้ สัดส่วนการลงทุนในทรัพย์สินแต่ละประเภทอยู่ภายใต้กรอบการให้คำแนะนำในด้านการลงทุนที่ระบุไว้ในบทวิเคราะห์ Asset Allocation ที่ได้รับจากที่ปรึกษาการลงทุน ซึ่งก็คือบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการวิเคราะห์จากทีมนักวิเคราะห์การลงทุนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการวิเคราะห์เศรษฐกิจ อีกทั้งมีทีมผู้จัดการกองทุนของ บลจ.ภัทร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์จังหวะและโอกาสการลงทุน ทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิดรวมถึงคัดเลือกสินทรัพย์ที่กองทุนจะลงทุน โดยจะพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ทำให้แต่ละกองทุนตอบสนองต่อความต้องการของผู้ลงทุนที่มีความสามารถในการรับความเสี่ยงและคาดหวังผลตอบแทนที่แตกต่างกันได้มากขึ้น
"กองทุน Asset Allocation ทั้ง 3 กองทุน จะช่วยให้นักลงทุนรับมือกับตลาดในปี 2562 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคาดการณ์ว่าตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง จากปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเจรจาข้อตกลงในการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ระหว่างสหภาพยุโรปกับสหราชอาณาจักร โดยสหภาพยุโรปยังมีจุดยืนที่จะไม่ทบทวนข้อตกลงดังกล่าว หรือความคืบหน้าของการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีความไม่แน่นอนสูง อาจพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งด้านอื่นๆ อีกทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว และตลาดการเงินที่บ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปี และ 10 ปี ที่ใกล้กันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยหากผลตอบแทนของพันธบัตรอายุ 10 ปีต่ำกว่า 2 ปี จะเป็นสัญญาณที่นักลงทุนหลายคนเชื่อว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12-24 เดือนข้างหน้า ดังนั้น การมีพอร์ตที่มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และการมีความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับความสามารถในการรับความเสี่ยงและความต้องการรับความเสี่ยงของนักลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยกองทุนในกลุ่ม Asset Allocation ซึ่งประกอบด้วย PHATRA SG-AA, PHATRA SG-AA Light และ PHATRA SG-AA Extra ที่มีการกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ และมีการปรับสัดส่วนให้เหมาะสมตามสภาวะตลาดซึ่งสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงของกองทุน จะมีโอกาสลดความผันผวนในระยะยาวของการลงทุนโดยรวม และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้กับนักลงทุนอีกด้วย" นายยุทธพล กล่าว
สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจสามารถขอหนังสือชี้ชวนและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ธนาคารเกียรตินาคินทุกสาขา หรือ KKP Contact Center 02 165 5555 และบริษัทหลักทรัพย์ภัทร โทร. 02 305 9559 หรือ www.phatraasset.com หรือผู้สนับสนุนการขายและรับซื้อคืนที่ได้รับการแต่งตั้งตามหนังสือชี้ชวน โดยผู้ลงทุนสามารถเริ่มลงทุนได้ที่ขั้นต่ำ 1,000 บาท
คำเตือน :
– การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้าเงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
– กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจจะขาดทุนหรือได้รับผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินต้นคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
– กองทุนมีนโยบายเปิดให้มีการลงทุนในกองทุนรวมอื่นภายใต้ บลจ. เดียวกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์อันอาจเกิดจากนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการเดียวกัน