กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น
บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) เผยเตรียมเจรจาพาร์เนอร์ต่างประเทศ เสริมทัพธุรกิจ Oil & Gas พร้อมเตรียมบุกโซนระยอง เข้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างกลุ่มธุรกิจพลังงาน อาทิ ปตท. ไทยออยส์ ไออาร์พีซี ณ สิ้นปี 2561 ถึงปัจจุบันกลุ่มบริษัทฯ โชว์งานในมือตุนแล้วกว่า 7,233 ล้านบาท
นายภาสิต ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการงานรับเหมาก่อสร้าง และออกแบบทางวิศวกรรมงานวางระบบท่อ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งธุรกิจพัฒนาโครงการและการลงทุนด้านนวัตกรรมพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ โรงไฟฟ้า และปิโตรเคมี เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจในปีนี้ กลุ่มบริษัท TRC จะรุกไปในการเข้าประมูลงานรับเหมาก่อสร้างธุรกิจน้ำมันและปิโตรเคมีขนาดใหญ่ รวมถึงงานสาธารณูปโภค ซึ่งกลุ่มบริษัทฯ มีความเชี่ยวชาญและได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ามาโดยตลอด และจะมุ่งสู่ธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ
"ปี 2562 นี้เราจะมุ่งเป้าไปที่โซนระยอง ซึ่งมีงานขนาดใหญ่ของธุรกิจพลังงานอยู่ เช่น งานปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันและก๊าซ ธุรกิจด้านการประหยัดพลังงานให้กับโรงงานอุตสาหกรรม (Energy Saving) ซึ่งกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มปตท. ไทยออยส์ รวมถึงไออาร์พีซี ซึ่งจะมีงานใหญ่ประเภทนี้ออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งเรามีความถนัดและเชี่ยวชาญอยู่แล้ว"นายภาสิต กล่าว
นอกจากนี้บริษัทฯ กำลังเจรจาความร่วมมือทางธุรกิจด้านพลังงานกับพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ เพื่อมาเพิ่มศักยภาพในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ด้าน Oil & Gas ในการเตรียมความพร้อมที่จะรุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนามและเมียนมา
ส่วนธุรกิจด้านนวัตกรรมใหม่นั้น เราจะมุ่งสู่งานการจัดการคลังสินค้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทแวร์เฮ้าส์ (Smart Warehouse) หรือ Automated Storage and Retrieval System (AS/RS) นั้น ขณะนี้บริษัทย่อย คือ บริษัท สหการวิศวกร จำกัด ได้งานของกลุ่ม ปตท.เข้ามาไว้ในมือแล้ว 1 โครงการ มูลค่างาน 600 ล้านบาท โดยปัจจุบันสมาร์ทแวร์เฮ้าส์ถือว่าเป็นธุรกิจที่กระแสตอบรับดีมาก มั่นใจว่าในอนาคตกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จะหันมาใช้บริการสมาร์ทแวร์เฮ้าส์มากขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ที่จะสร้างรายได้ในงานส่วนนี้
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TRC กล่าวต่อว่า ช่วงปี 2561 ถือได้เป็นปีทองของบจก. สหการวิศวกร ที่ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษจากรมทางหลวง และสามารถชนะการประมูลโครงการขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง มูลค่า 1,524 ล้านบาท โครงการถนนคลองสามวา มูลค่า 172 ล้านบาท โครงการก่อสร้างศูนย์กระจายสินค้าผลิตภัณฑ์หล่อลื่นจากบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR มูลค่า 600 ล้านบาท และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาสามารถได้รับงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการรัชดาภิเษก-อโศก จากกรุงเทพมหานคร มูลค่า 2,205 ล้านบาท และต้นเดือนมีนาคม จะมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างงานถนนอีก 1 งาน มูลค่า 560 ล้านบาท ส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2561 ถึงปัจจุบัน ทั้งกลุ่ม TRC มีงานในมือรวม 7,233 ล้านบาท และตั้งเป้าหมายในการเข้าประมูลงานในปีนี้ประมาณ 15,000 - 20,000 ล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับผลประกอบการปี 2561 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้ ค่าบริการก่อสร้าง 2,257 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ที่ 2,370 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 2,041 ล้านบาท สาเหตุหลักของการขาดทุนคือ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจตั้งสำรอง และรับรู้ค่าใช้จ่ายรายการที่เกี่ยวข้องกับบริษัทร่วมที่กลุ่มบริษัทฯ ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ 25.13 คือบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) หรือ APOT ทั้งหมดจำนวนรวม 2,094 ล้านบาทประกอบด้วยการบันทึกขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุน หนี้สูญและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ การปรับรายการค่าใช้จ่ายและภาระต่าง ๆ เข้าเป็นต้นทุนค่าบริการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม ขาดทุนดังกล่าวเป็นการบันทึกขาดทุนทางบัญชี ไม่มีผลกระทบกับกระแสเงินสดของบริษัทฯ แต่อย่างใด ซึ่งหากตัดรายการสำรองและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ APOT ข้างต้นออก ผลการดำเนินงานปี 2561 ของกลุ่มบริษัทฯ จะปรากฏเป็นกำไรสุทธิ 53 ล้านบาท ทั้งนี้ การตั้งสำรองและรับรู้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดดังกล่าวในปี 2561 จะทำให้บริษัทฯ จะไม่ต้องรับรู้ผลขาดทุนของ APOT เข้ามาในผลประกอบการรวมอีกต่อไป เป็นการลดความเสี่ยงต่อความผันผวนของผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ จากการที่ในระหว่างปี 2559 - 2560 ต้องรับภาระรับรู้ผลขาดทุนของ APOT ในงบการเงินรวม นอกจากนั้นแล้ว หากโครงการ APOT มีความชัดเจนในการพัฒนาโครงการต่อ ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ถือหุ้นและ/หรือจากสถาบันการเงิน ทำให้ได้คืนมาซึ่งมูลค่าของเงินลงทุน บริษัทฯ ก็จะ
สามารถกลับรายการสำรองเผื่อขาดทุนที่เกินความจำเป็น และรับรู้กำไรในอนาคตเพื่อชดเชยขาดทุนจากการตั้งสำรองในปี 2561