กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--WWF ประเทศไทย
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล และพันธมิตร ร่วมจัดงานนิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่ายจากพื้นที่ป่าเทือกเขาทวาย ตะนาวศรี ขุมทรัพย์แห่งธรรมชาติที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวนิเวศ และเป็นบ้านของสัตว์สายพันธุ์พื้นถิ่นแห่งเอเชีย ทั้งเสือโคร่ง ช้างป่า และอีกมากมายหลายชีวิต ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร (BACC) ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม 2562
"ทวาย ตะนาวศรี ผืนป่าลับแลแห่งเอเชีย" Dawna Tenasserim: the Hidden Forests of Asia เป็นการแสดงผลงานภาพถ่ายที่สะท้องจากเรื่องราวการเดินทางของช่างภาพ ตั้งแต่วิวทิวทัศน์ในระดับเมฆ จากยอดเขา จนถึงพื้นดินที่ซึ่งชุมชนอยู่อาศัย และสัตว์ป่าหลากหลายสายพันธุ์ใช้เป็นบ้านพักพิง จากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ สู่ดินแดนแห่งป่าทึบอันซับซ้อน ภาพถ่ายที่ถูกนำมาจัดแสดงนั้นถูกถ่ายทอดจากฝีมือของช่างภาพมืออาชีพ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ และกลุ่มนักอนุรักษ์ที่ลงพื้นที่ทำงานในป่าแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีการจัดแสดงแผนที่ รวมถึงวิดิโอไฮไลท์เรื่องราวของป่าทวาย ตะนาวศรี อีกทั้ง ความท้าทายในงานเชิงอนุรักษ์ที่พื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญ เมื่อถนน และการพัฒนาสาธารณูปโภค กำลังคืบคลานเข้ามาใกล้
"หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงว่า ธรรมชาติได้มอบสิ่งมหัศจรรย์อันยิ่งใหญ่ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน หรือเมืองหลวงของเรา ไม่ว่าจะเป็นจากเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง หรือกรุงเทพมหานคร พื้นที่ป่าที่เต็มไปด้วยระบบนิเวศอันหลากหลายนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ที่ทำให้เรามีน้ำที่สะอาด มีอากาศบริสุทธ์ มีอาหาร และมีชีวนิเวศอันเหมาะสม" นางสาวพิมพ์ภาวดี พหลโยธิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าว และบอกว่า "พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้เข้าร่วมชมนิทรรศการ ทั้งชาวไทย ชาวเมียนมา และผู้ชมจากทั่วโลก จะได้รับแรงบันดาลใจ และเกิดความตั้งใจที่จะปกป้องพื้นที่อันบริสุทธ์นี้ ให้ยังคงอยู่เพื่อคนในรุ่นถัดไป"
พื้นที่กว่า 179,896 ตารางกิโลเมตร ของแนวป่าทวาย-ตะนาวศรี มีขนาดเทียบเท่ากับประเทศกัมพูชา และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล ระบุว่า ที่นี่เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 1 ใน 5 แห่งของโลก เพราะป่าชื้นเขตร้อนแห่งนี้ยังคงรักษาความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อม และเป็นป่าผลัดใบขนาดใหญ่ที่ยังคงเหลือเหลืออยู่ในภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ มีรายงานว่า มากกว่า 83% ของพื้นที่ยังคงมีสภาพเป็นป่า และเป็นบ้านของสัตว์ป่าที่สำคัญ อาทิ เสือโคร่ง ช้างเอเชีย รวมถึงพืชและสัตว์อีกหลากหลายสายพันธุ์ โดยในประเทศไทยมีการขนานนามพื้นที่ป่าบริเวณนี้ ว่าเป็นเขตป่าตะวันตก ที่รวม 19 อุทยานแห่งชาติ รวมถึงเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไว้ด้วยกัน พื้นที่ป่า ทวาย ตะนาวศรี นั้นยังรวมถึงเขตป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย และเขตอนุรักษ์ที่สำคัญในฝั่งเมียนมาด้วย
"ในทวีปเอเชีย พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่เราจะได้พบทั้งสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์ และระบบนิเวศที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์มากเช่นนี้เป็นเรื่องยาก" คริสตี วิลเลี่ยมส์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าว และยังบอกอีกว่า "นอกจากเรื่องของสัตว์ป่าแล้ว ป่าทวาย ตะนาวศรีนั้น ยังเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนที่คงไว้ซึ่งความเชื่อ และศรัทธา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของการอยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้"
เรแกน ไพโรจน์มหากิจ ผู้จัดการโครงการพื้นที่ป่า ทวาย ตะนาวศรี องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทยกล่าวว่า "พื้นที่นี้ถือเป็นจุดสำคัญในการเดินทางของช้างป่า เสือโคร่ง และสัตว์ที่กำลังตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์อีกหลายชนิด และพวกมันได้สร้างระบบสังคมแบบฝูงเพื่ออยู่อาศัยร่วมกัน และทั้งหมดนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่อโครงการพัฒนา และจะส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ"
"เป็นเรื่องจำเป็นที่ผู้นำทั้งจากประเทศไทย และเมียนมา จะก้าวเข้ามาทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องป่าแห่งนี้ และเพื่อให้เรายังได้มีพื้นที่ที่ยังคงความสมบูรณ์ของธรรมชาติให้อยู่คู่โลก"