กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สับปะรดโรงงาน ปี 2562 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ 25 ธันวาคม 2561) คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ 543,941 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา 18,898 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นในพื้นที่ไม่เหมาะสมสำหรับการปลูกสับปะรด ส่งผลให้ผลผลิตรวมทั้งประเทศมีประมาณ 2.28 ล้านตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 95,252 ตัน จึงคาดว่าราคาจะมีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สศก. จะมีการปรับค่าพยากรณ์อีกครั้งในเดือนมีนาคมนี้
สำหรับแนวทางบริหารจัดการสินค้าสับปะรด กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ขับเคลื่อนผ่านกลไกคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาสับปะรดแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์สับปะรดปี 2560 – 2569 ยังคงครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยด้านการผลิต กระทรวงเกษตรฯ เป็นหลัก ดำเนินการส่งเสริมการผลิตตามพื้นที่ Agri-Map แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 จังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานฯ 100 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูป กลุ่มที่ 2 จังหวัดที่มีการปลูกสับปะรดโรงงาน แต่อยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของโรงงานแปรรูปสับปะรด เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมการปลูกสับปะรดเพื่อเน้นการบริโภคผลสด โดยปี 2562 เน้นการลดพื้นที่ปลูกสับปะรดในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปเพาะปลูกพืชชนิดอื่นแทน อาทิ มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่จะช่วยให้ปริมาณผลผลิตมีความสอดคล้องกับความต้องการ รณรงค์ประชาสัมพันธ์เชิญชวนการบริโภคสับปะรดผลสดเพื่อร่วมกันกระจายผลผลิตสู่ตลาดให้มากที่สุด ส่งเสริมการผลิตสับปะรดพันธุ์บริโภคสดเพิ่มขึ้น และส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ในจังหวัดที่อยู่ในรัศมีรอบกลุ่มโรงงานฯ 100 กิโลเมตร ให้เป็นรูปธรรม
ด้านการแปรรูป กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหลัก ดำเนินการศึกษาวิจัยและส่งเสริมการนำนวัตกรรมมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสับปะรด เช่น ศึกษาลู่ทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดด้วยนวัตกรรมรูปแบบใหม่ด้านนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ความงามจากสับปะรดในจังหวัดลำปาง ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการประชารัฐพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมสับปะรดอย่างยั่งยืน โครงการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุจากสับปะรดที่เหลือใช้ด้วยการผลิตเป็นเส้นใยเสริมแรงสำหรับวัสดุคอมโพสิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอเทคนิคจากใบสับปะรด ศึกษาศักยภาพสารสกัดจากสิ่งเหลือใช้ (By Product) ในกระบวนการแปรรูปสับปะรด เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
ด้านการตลาด กระทรวงพาณิชย์ เป็นหลัก ดำเนินการขยายตลาดการส่งออกสับปะรดและผลิตภัณฑ์ เช่น กลุ่มประเทศมุสลิม เอเชียตะวันออก ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าบนสื่อออนไลน์ www.thaitrade.com การรวบรวม จำหน่าย และส่งออกสับปะรดผลสดผ่านกลไกรูปแบบประชารัฐ ส่งเสริมการเจรจาการค้าเพื่อขยายตลาดใหม่รองรับวิกฤติในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) รวมทั้งรณรงค์ส่งเสริมการบริโภคสับปะรดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ ซึ่งให้แต่ละจังหวัดเตรียมการบริหารจัดการผลผลิตแบบเบ็ดเสร็จช่วงที่ออกสู่ตลาดมาก (เดือนเมษายน - มิถุนายน) เพื่อกระจายผลผลิตไปยังตลาดต่างๆ ตามความเหมะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการตลาดและการส่งออกสับปะรดได้หารือเพื่อวางแผนบริหารด้านการตลาดร่วมกันให้ชัดเจนแล้ว
ทั้งนี้ อยากขอเชิญชวนทุกท่านหันมาบริโภคสับปะรดผลสด ในช่วงผลผลิตออกตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการอุดหนุน ส่งเสริมผลผลิต ช่วยกระจายผลผลิตให้แก่เกษตรกรแล้ว สรรพคุณของสับปะรดยังส่งผลดีต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยพบว่าสับปะรดมีสรรพคุณทางยา คือ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ลดสาเหตุการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ลดบวม ช่วยบรรเทาอาการท้องผูก อีกทั้งส่วนแกนสับปะรดยัง มีเอนไซม์บรอมีเลน (BROMELIAN) ช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการจุกเสียดแน่นเฟ้อ และช่วยให้ร่างกายสดชื่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย