กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี และอุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุนไทย-สหรัฐอเมริกา (ทิฟา) จะเผยผลการศึกษาและวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อหมูและเครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างตามมาตรฐานของโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (โคเดกซ์) ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมนี้ตามกำหนดของคณะกรรมการร่วมสองฝ่าย ทำให้ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศวิตกกังวลหากผลการศึกษาออกมาว่าแล้วพบว่าการกินหมู-เครื่องในที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างไม่เป็นอันตราย เท่ากับคนไทยต้องยินยอมให้หมูสหรัฐที่มีสารเร่งเนื้อแดงเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"สหรัฐมีความพยายามจะส่งออกเนื้อหมูและเครื่องใน ที่ใช้สารเร่งเนื้อแดงแรคโตพามีนในการเลี้ยงมายังไทยอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าไทยจะยืนยันหนักแน่นไม่ให้นำเข้าเพราะการเลี้ยงหมูสหรัฐสามารถใช้สารเร่งเนื้อแดงได้อย่างเสรี ซึ่งขัดกับกฎหมายไทยที่ห้ามใช้สารดังกล่าวมาตั้งแต่พ.ศ.2525 และภาครัฐมีการเดินหน้าจับกุมผู้ลักลอบกระทำความผิดมาโดยตลอด ในเมื่อไทยห้ามคนในประเทศใช้ แล้วจะยอมให้สินค้านำเข้ามีสารตกค้างได้อย่างไร ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศยืนหยัดคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุดและขอให้รัฐบาลยืนอยู่ข้างเราอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้หมูสหรัฐเข้ามาทำร้ายสุขภาพผู้บริโภคคนไทย และไม่ให้ทำลายอาชีพเกษตรกรได้อย่างเด็ดขาด" นายนิพัฒน์ กล่าวและว่า
ผู้เลี้ยงสุกรมีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสารก่อมะเร็ง ที่อาจตกค้างในเนื้อสุกรและเครื่องในที่นำเข้าจากสหรัฐ ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยง โดยเฉพาะปริมาณการตกค้างสารพิษในเครื่องในสัตว์ ตับ ไต ที่ในทางการแพทย์ถือเป็นอวัยวะส่วนที่ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย จึงมีความเสี่ยงสูงว่าชิ้นส่วนเหล่านี้จะมีการตกค้างของสารพิษมากกว่าส่วนที่เป็นเนื้อแดง ชิ้นส่วนเหล่านี้เป็นส่วนที่ชาวอเมริกันไม่นิยมบริโภค ถือเป็นส่วนที่สหรัฐไม่ต้องการและเป็นขยะที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณในการขจัดทิ้ง ขณะที่คนไทยชอบรับประทานเครื่องในเหล่านี้
"อันตรายจากสารเร่งเนื้อแดงทำให้หลายประเทศในยุโรป รวมถึงประเทศจีนยกเลิกการนำเข้า ส่วนไทยมีการคัดค้านการนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่พ.ศ.2561 หากผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญที่จะแล้วเสร็จดังกล่าวข้างต้น สรุปให้ไทยต้องนำเข้าเครื่องในหมูจากสหรัฐ คนเลี้ยงหมูอาจจะมีการรวมตัวคัดค้านอีกครั้ง เพราะทุกคนไม่เชื่อว่าหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงนี้จะปลอดภัยต่อผู้บริโภค" นายพิพัฒน์กล่าวทิ้งท้าย.
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ 90/141 หมู่ 15 ถนนบางนาตราด ต.บางแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ 10540 โทร.02-136-4797