กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
รองศาสตราจารย์ ดร.โฆษิต ศรีภูธร รองอธิการบดีประจำวิทยาเขตสกลนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) กล่าวว่า ผลจากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการประชุมเครือข่ายสถาบันการผลิตกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 34 ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ซึ่งมีนายแพทย์ปราโมทย์ เสถียรรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นประธาน สืบเนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดนโยบายผลักดันให้การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยกำหนดกลไก วิธีการ และขั้นตอนการดำเนินการขับเคลื่อนประเทศด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจในประเด็น "การปฏิรูประบบการศึกษาการแพทย์แผนไทย" ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันการผลิตกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทยในระดับอุดมศึกษา จำนวนกว่า 30 แห่ง ที่สามารถผลิตบัณฑิตแพทย์แผนไทยที่มีคุณภาพกระจายในระบบบริการสุขภาพ ประมาณปีละ 1,200 คน
จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทภารกิจสำคัญในการพัฒนางานการแพทย์แผนไทยในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะประเด็น "การปฏิรูประบบการศึกษาการแพทย์แผนไทย" ทั้งนี้ได้ดำเนินโครงการพัฒนาเครือข่ายสถาบันการผลิตกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2550 และได้ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1.เพื่อเป็นการประสานความร่วมมือระหว่างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาอันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนางานการแพทย์แผนไทย 2.เพื่อสร้างความร่วมมือด้านวิชาการและการผลิตกำลังคนระหว่างภาคีเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาที่มีการจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์แผนไทย 3.เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสถาบันการศึกษาที่ผลิตกำลังคนด้านการแพทย์แผนไทย
มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร มีนโยบายการสนับสนุนงานวิจัยด้านอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพและการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรและคราม ซึ่งเป็นคลัสเตอร์หลัก เริ่มตั้งแต่ต้นทาง เช่น การเพิ่มทักษะกระบวนการปลูกพืชสมุนไพร อาทิเช่น ขิง ข่า ตระไคร้ รวมทั้งนวัตกรรมการปลูกกัญชา (Smart Farm) เพื่อใช้ทางการแพทย์ ที่มีความละเอียดรอบคอบตั้งแต่การจัดตั้งโรงเรือน โดยมีกระบวนการตรวจแปลงปลูก เพื่อรองรับมาตรฐาน GAP และ Organic พร้อมสนับสนุนพื้นที่และอุปกรณ์การปลูก กลางทาง ได้แก่ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบตราสัญลักษณ์ การเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและการปนเปื้อนสารเคมีในธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพรที่แปรรูปเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ พร้อมเครื่องมือตรวจสอบคุณภาพขั้นสูง เพื่อให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุด และปลายทางคือการสนับสนุนการจัดจำหน่าย การจัดนิทรรศการแสดงผลงาน การจับคู่ธุรกิจ และการบริหารจัดการของโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยจังหวัดสกลนคร (หลวงปู่แฟ๊บ สุภัทโท)
สำหรับ 16 ตำรับยาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเรื่องลม การนอนหลับ แก้ปวด รับประทานอาหารได้ เน้นการส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ประกอบด้วย 1.ยาน้ำมันสนั่นไพรภพ 2.ยาอัคคินีวคณะ 3.ยาศุขไสยาศน์ 4.ยาแก้ลมเนาวนารีวาโย 5.ยาแก้ลมขึ้นเบื้องสูง 6.ยาไฟอาวุธ 7.ยาแก้นอนไม่หลับหรือยาแก้ไข้ผอมเหลือง 8.ยาแก้สัณฑฆาต กร่อนแห้ง 9.ยาอัมฤตโอสถ 10.ยาอไภยสาลี 11.ยาแก้ลมแก้เส้น 12.ยาแก้โรคจิต 13.ยาไพสาลี 14.ยาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง 15.ยาทำลายพระสุเมรุ และ 16.ยาทัพยาธิคุณ ซึ่งมีการประสานเพื่อเตรียมความพร้อมถึงกลุ่มที่จะต้องขึ้นทะเบียนจำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ แพทย์แผนไทย แพทย์แผนประยุกต์ แพทย์พื้นบ้าน และหมอพื้นบ้าน โดยจะทำคู่ขนานไปแนวเดียวกันทั้งประเทศ
ในส่วนการเตรียมความพร้อมของ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร เบื้องต้นได้มีการให้ความรู้และทำความเข้าใจกับบุคลากรชาวราชมงคลสกลนคร และเกษตรกร โดยมีการบรรยายเรื่องการทำความร่วมมือการปลูกกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในคณะทรัพยากรธรรมชาติ จากนายแพทย์สมนึก ศิริพานทอง คณะกรรมการสมาคมเซลล์บำบัดไทย ซึ่งกล่าวว่า กัญชาทั่วไปมียาฆ่าแมลง ไม่สารปนเปื้อนที่มาจากลมและอากาศ ไม่เหมาะที่จะนำมาสกัดเป็นยารักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน นอกจากนั้นกัญชายังสามารถนำไปใช้ในการรักษาอาการหอบหืด เพราะมีคุณสมบัติที่ช่วยในการขยายหลอดลม ช่วยบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ปวดประจำเดือน ซึ่งแน่นอนว่าการปลูก และการดูแลทุกอย่างต้องควบคุมอย่างรัดกุม และทำอย่างถูกกฎหมาย มีระบบรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดด้วยกำแพง 3 ชั้น มีการสแกนลายนิ้วมือเข้าออก การทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าแปลงปลูก และต้องปลูกในพื้นที่ควบคุมอากาศ น้ำ และดิน เพื่อป้องกันสารปนเปื้อนและยาฆ่าแมลงที่อาจมาจากอากาศ เพื่อให้ได้วัตถุดิบคุณภาพดีสำหรับใช้ทำยาสมุนไพรและถูกต้องตามหลักสากล เป้าหมายพื้นที่ 15 ไร่ ภายในคณะทรัพยากรธรรมชาติ มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร อ.พังโคน จ.สกลนคร โดยมีระยะเวลาการปลูก 4 เดือน และใช้เวลาสกัด 1-2 สัปดาห์
นอกจากนี้จะต้องมีห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อวิเคราะห์และตรวจสอบมาตรฐานสารสกัดที่จะนำไปทำยา โดยมีการปรับปรุงห้องปฏิบัติการ เพื่อการตรวจวิเคราะห์คุณภาพกัญชา และการเก็บเมล็ดพันธุ์กัญชา ณ ห้องปฏิบัติการวิจัย (A404) ชั้น 4 อาคารเรียนแพทย์แผนไทย คณะทรัพยากรธรรมชาติ และขณะนี้มีผู้หลอกลวงชาวบ้านในเรื่องการเชิญชวนให้ประชาชนมาลงทุนปลูกกัญชา โดยมีการประกันรายได้ ต่างๆ นานา ซึ่ง มทร.อีสาน วิทยาเขตสกลนคร ขอยืนยันว่ามหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินงานต้องอยู่ภายใต้ความร่วมมือและต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย ด้วยความรัดกุมจากรัฐบาล กรมการแพทย์ไทย และแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภามหาวิทยาลัย มทร.อีสาน เท่านั้น รศ.ดร.โฆษิต กล่าวทิ้งท้าย