กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ปตท.
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตพัฒนาด้านการศึกษา นวัตกรรม และเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท. พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โครงการภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดย ปตท. จะเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และ สวทช.จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีให้เกียรติทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking Ceremony) เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง และได้ชมทัศนียภาพพื้นที่ EECi ในระยะไกลจากที่สูง ณ หอชมวิว รวมถึงเยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท. โดยมี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ให้การต้อนรับ
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวว่า ปตท. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ปตท.มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคบนพื้นที่ 3,455 ไร่ ของ EECi ให้มีความทันสมัย ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมครบวงจร พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ รองรับการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก
"ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้านอย่างสมดุล (หลัก 3P) ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Prosperity) สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ EECi นี้ ปตท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. จึงพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย ปตท. มุ่งหวังให้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมชั้นสูง เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Innovation Platform และ Smart Community เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ EECi อย่างยั่งยืน อันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคงอีกด้วย" นายชาญศิลป์ กล่าวเสริมในตอนท้าย