กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--ซีพีเอฟ
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำโรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 125 แห่ง เข้ารับรองมาตรฐานแรงงานไทย หรือ มรท. 8001-2553 แล้ว พร้อมเดินหน้าส่งเสริมให้สถานประกอบการของบริษัทฯ ทุกแห่งได้รับรองมาตรฐานดังกล่าว สอดคล้องตามนโยบายบริหารจัดการแรงงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม และปฏิญญาสากลด้านแรงงาน
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนมาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายให้สถานประกอบการทุกแห่งครอบคลุมทั้งธุรกิจสัตว์บกและสัตว์น้ำในประเทศไทยได้รับรองมาตรฐานแรงงานไทยหรือ มรท.8001-2553 (Thai Labour Standard: TLS 8001-2010) ซึ่งในปัจจุบัน โรงงานและฟาร์มเลี้ยงสัตว์ 125 แห่งทั่วประเทศของซีพีเอฟ ได้รับการรับรองมาตรฐานฯ ทั้งระดับสมบูรณ์ และระดับสมบูรณ์สูงสุดแล้ว โดยผ่านการตรวจสอบจากองค์กรรับรองมาตรฐานเป็นกลาง จากบริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัดและ บริษัท ทูฟ ซูด (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 85 ของสถานประกอบการทั้งหมดของซีพีเอฟ และปีนี้ บริษัทยังเดินหน้าผลักดันให้โรงงานและฟาร์มที่เหลือเข้าสู่การรับรองมาตรฐานแรงงานไทยต่อไป ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟยังถ่ายทอดนโยบายให้เกษตรกรและคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่การผลิตได้ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและเสมอภาคสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อร่วมกันช่วยยุติปัญหาการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบในสังคมไทย
"การนำสถานประกอบการเข้ารับรอง มรท.8001-2553 เป็นหนึ่งในการดำเนินงานที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและใส่ใจมีระบบการจัดการด้านแรงงานที่ดี เพื่อให้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานทำงานและร่วมสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดี" นายปริโสทัตกล่าว
ในปีนี้บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการจัดการปัญหาด้านแรงงาน และการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยการจับมือกับมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ Labour Promotion Network Foundation (LPN) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เพื่อดำเนินการ Labour Voice by LPN ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและคำแนะนำของพนักงาน และจัด worker training เพื่อให้แรงงานของซีพีเอฟทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติมีความรู้ด้านกฎหมายและเข้าถึงสิทธิเกี่ยวกับแรงงานที่สำคัญ เพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจน ธุรกิจสัตว์น้ำ ของบริษัทฯ ยังร่วมมือกับภาครัฐ และ NGO ดำเนินการ ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2559
เป็นปีที่ 4 เพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัวในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้ภาคปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีส่วนร่วมในการบรรเทาและป้องกันปัญหาการใช้แรงงานทาสและการค้ามนุษย์ ได้รับการยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั่วโลก.