กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมทางไกล(Video Conference) กล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานแก่บุคลากรของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ณ กรมพัฒนาที่ดิน ว่า การชะล้างพังทลายของหน้าดินเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยพื้นที่การเกษตรของไทยจำนวนหลายล้านไร่กำลังเผชิญปัญหา จากข้อมูลของกรมพัฒนาที่ดิน ในปี 2545 พบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ชะล้างพังทลายทั้งหมด 108.88 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ราบ ร้อยละ 70.44 และพื้นที่สูง ร้อยละ 29.56 เมื่อดินถูกชะล้างปุ๋ยธรรมชาติที่เกิดจากระบบนิเวศที่สมดุลก็ถูกชะล้างไปด้วย ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้กรมพัฒนาที่ดิน ดำเนินมาตรการด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน อาทิ การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนที่ลุ่ม-ดอน รณรงค์ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก จัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำบนพื้นที่สูง และการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินแห่งเอเชีย (Asian Soil Partnershipหรือ ASP) ได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย หรือCESRA โดยให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดตั้งศูนย์ CESRA เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล การวิจัยและนวัตกรรมด้านทรัพยากรดินของภูมิภาค ส่งเสริมงานวิจัยสร้างเครือข่ายศูนย์วิจัยด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ และข้อมูลด้านทรัพยากรดิน นอกจากนี้ ได้มีการจัดตั้ง Thai Soil Partnership หรือ TSP เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความร่วมมือไปยัง ASP และทั่วโลก เพื่อให้เกิดการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนจึงเห็นได้ว่าทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการพัฒนาดินเป็นอย่างมาก
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน จึงต้องเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนหยุดการชะล้างพังทลายหน้าดินอย่างจริงจังโดยจะมีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อการพัฒนาดิน โดยคัดเลือกเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค รวมประมาณ 40 คน มาร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ วางแผนยุทธศาสตร์ระยะ 20 ปีเพื่อการพัฒนาดินและหยุดการชะล้างพังทลายของดิน ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2561-2564) โดยหน่วยปฏิบัติการดังกล่าว จะทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดินในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดการถูกชะล้าง ตลอดทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาดินและนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูให้ดินกลับมาอุดมสมบูรณ์ต่อไป
"ได้มีการกำชับให้กรมพัฒนาที่ดินเร่งขับเคลื่อน และขยายผล โดยน้อมนำศาสตร์ของพระราชาในเรื่องดิน ที่ทรงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล นักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม(Humanitarian Soil Scientist) มาเป็นหลักในการขับเคลื่อนพัฒนาดิน และหยุดการชะล้างของดินโดยวันดินโลก 5 ธันวาคมในปีนี้ จะทำเรื่องดินให้คนไทยและทั่วโลกได้ประจักษ์ชัดว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้น และแก้ไขได้ด้วยการลงมือทำด้วยความสามัคคีในทุกภาคส่วน จึงขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคนร่วมกันลงมือหยุดชะล้างพังทลายดินในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อร่วมกันพิสูจน์ให้ทั่วโลกประจักษ์ว่าคนไทยทุ่มเททำเพื่อพ่อหลวง และรักษาแผ่นดินให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ให้แก่ลูกหลานต่อไป" นายวิวัฒน์ กล่าว