กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--พีอาร์ วัน เน็ทเวิร์ค
AI คือหัวใจของทุกสิ่ง: บางทีเราอาจคิดว่าปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) เป็นเทคโนโลยีที่แยกต่างหากซึ่งอยู่ในบางที่ในอนาคต แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด ที่จริงแล้ว เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain), IoT, ระบบวิเคราะห์ข้อมูล, ระบบงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ และทุกๆ สิ่งจะถูกขับเคลื่อนด้วย AI และจากที่พบเห็นมา AI ได้ถูกปรับใช้อย่างรวดเร็วเหมือนกับเทคโนโลยีอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างจะชาญฉลาด เปี่ยมด้วยความสามารถ และทำงานแบบอัจฉริยะ ตัวอย่างเช่น เมื่อใช้งานร่วมกับระบบงานอัตโนมัติที่ใช้หุ่นยนต์ AI จะช่วยปรับปรุงการดำเนินธุรกิจในแต่ละวันได้อย่างมาก ทั้งในเรื่องของความสะดวกรวดเร็ว การทำงานแบบอัตโนมัติ และบริการที่ดีเยี่ยม ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย
การเริ่มต้นของคลาวด์เนทีฟ: การย้ายไปสู่ระบบคลาวด์ทำได้ 3 วิธี ได้แก่ การโยกย้ายสิ่งที่คุณมีอยู่โดยไม่ต้องเปลี่ยนแปลงการออกแบบหรือกระบวนการเพิ่มเติม การปรับเปลี่ยนกระบวนการที่มีอยู่เมื่อคุณโยกย้ายระบบ หรือการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทั้งหมดอย่างสิ้นเชิงและพัฒนาเฉพาะสิ่งที่เป็น 'คลาวด์เนทีฟ' นับจากนี้เป็นต้นไป วิธีที่สามอาจเรียกว่า 'เกิดมาในระบบคลาวด์' องค์กรต่างๆ ได้ทดลองใช้งานเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟมานานหลายปี และในปี 2562 เราจะได้พบเห็นกรณีการใช้งานจริงทางด้านธุรกิจและได้รับประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการติดตั้งและใช้งานจริงอย่างกว้างขวางสำหรับเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟ จนถึงปัจจุบัน คลาวด์เนทีฟยังจำกัดอยู่ในกลุ่มเฉพาะ เช่น ใช้ในการปรับขนาดระบบตามความต้องการทางธุรกิจด้วยความยืดหยุ่นสูงสุด
แนวโน้มสำหรับปี 2562 ก็คือ เทคโนโลยีที่ 'เกิดในระบบคลาวด์' จะช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ ที่สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันอุตสาหกรรมการรักษาความปลอดภัยพึ่งพาเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่คอยเฝ้าดูแลสถานที่ โดยทุกวันนี้อาจมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยราว 200 คนภายในบริเวณพื้นที่หนึ่งตารางไมล์ในกรุงลอนดอน ลองนึกภาพการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโลกที่เทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟสามารถเก็บรวบรวมและตรวจสอบข้อมูลด้านการรักษาความปลอดภัยตามจุดต่างๆ ผ่านกล้องวิดีโอวงจรปิดหรือเซ็นเซอร์ และมีการจัดวางเจ้าหน้าที่ไว้เฉพาะในจุดที่จำเป็นเท่านั้นเพื่อรองรับการทำงานอย่างมีเป้าหมาย แทนที่จะต้องเฝ้ามองหน้าจอที่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้นตลอดทั้งคืน นับเป็นการยกระดับการทำงานอย่างเหนือชั้นโดยอาศัยเทคโนโลยีคลาวด์เนทีฟ
รูปแบบที่เป็นนามธรรม: ขณะที่คลาวด์เนทีฟกลายเป็นมาตรฐานใหม่ ในช่วงปี 2562 บุคลากรจะต้องตัดสินใจว่าจะพัฒนาแอพโดยใช้เทคโนโลยีเนทีฟบนแพลตฟอร์มต่างๆ อย่างเช่น AWS และ Microsoft Azure หรือจะใช้เทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นนามธรรมและเปิดกว้างมากกว่า เช่น คอนเทนเนอร์ (Container) อย่างเช่น Docker
และ Kubernetes ด้วยการแยกองค์ประกอบของแอพพลิเคชั่นให้กลายเป็นเอ็นทิตีขนาดเล็กที่ถูกห่อหุ้มไว้ คอนเทนเนอร์เหล่านี้จะสามารถนำไปประกอบเข้าด้วยกันเป็นแอพพลิเคชั่นที่ซับซ้อน และกระจายไปยังแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ช่วยให้สามารถประมวลผลหลายๆ งานพร้อมกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือ การพัฒนาและการดูแลรักษาที่ง่ายดายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับฝ่ายพัฒนาแอพพลิเคชั่นได้อย่างมาก ทั้งยังเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้บริการในระดับต่างๆ และลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก และเนื่องจากคอนเทนเนอร์ช่วยเพิ่มความสะดวกในการโฟกัสฟีเจอร์ใหม่ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและการวางจำหน่ายซอฟต์แวร์รุ่นใหม่หรือรุ่นอัพเดต ดังนั้นจึงนับเป็นเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ลูกค้าอย่างเป็นรูปธรรม
AI ที่โปร่งใสรองรับการดำเนินการอย่างครบถ้วนสมบูรณ์: หากตรวจสอบประโยชน์ของ AI อย่างเจาะลึก จะพบว่าการหยุดทำงานของแพลตฟอร์มคลาวด์ที่สำคัญจะส่งผลกระทบน้อยลง เพราะการดำเนินงานที่รองรับ AI จะย้ายลูกค้าไปยังระบบสำรองโดยอัตโนมัติ และจากนั้นก็ย้ายลูกค้ากลับมาอีกครั้ง เมื่อระบบคลาวด์ที่เลือกไว้กลับใช้งานได้ตามเดิม โดยที่บุคลากรไม่ต้องเข้าไปจัดการเลยแม้แต่น้อย นี่คือความเป็นจริงของโลกใหม่
ตอนนี้เราต้องตัดสินใจว่าจะให้ AI เข้าไปทำหน้าที่จัดการดูแลเมื่อไร และเราจะต้องระบุผลลัพธ์ที่เราต้องการ รวมถึงขอบเขตการทำงานของ AI การให้บริการแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสะดุด คือจุดมุ่งหมายสำคัญสำหรับ AI เมื่อระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ระบบหนึ่งเกิดหยุดทำงานเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา แต่นี่ไม่ใช่กรณีที่จะเกิดขึ้นเสมอไป ภายใต้แนวทางการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มุ่งเน้นบุคคล เราเชื่อว่า AI ไม่ใช่ไม้เท้าวิเศษหรือยาครอบจักรวาลที่แก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนเราใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างเต็มศักยภาพ เราจำเป็นที่จะต้องสร้างเทคโนโลยีที่ไว้ใจได้ สามารถเข้าใจว่าเพราะเหตุใดอัลกอริธึมจึงดำเนินการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคธุรกิจที่มีกฎระเบียบเข้มงวด เช่น ธุรกิจการธนาคาร หรือสาธารณสุข เราเรียกสิ่งนี้ว่า 'AI ที่เข้าใจได้' และองค์กรจะต้องเผยแพร่โค้ดและอัลกอริธึม และในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาด ก็จะสามารถตรวจสอบได้ และภาคส่วนต่างๆ จะสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การดำเนินการนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และประเด็นสำคัญคือการครอบครองและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในโลกของ AI ที่โปร่งใส ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาท้าทายที่ 'มุ่งเน้นบุคลากร' ซึ่งฟูจิตสึพยายามที่จะแก้ไขในช่วงปี 2562
ระบบคลาวด์พร้อมสำหรับการดำเนินงานที่สำคัญอย่างยิ่ง: ถึงเวลาแล้วสำหรับการเปลี่ยนเจนเนอเรชั่น ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีคลาวด์ ผมคิดว่าเทคโนโลยีรุ่นเก่าจะใช้งานได้อีก 5 ปีก่อนที่ระบบคลาวด์จะเข้าครอบครองการดำเนินงานทั้งหมด ปัจจุบันบริษัทต่างๆ ได้ระบุจุดสิ้นสุดของแผนการพัฒนาและการให้บริการสนับสนุนระบบปิดรุ่นเก่า และผมคาดการณ์ว่าปี 2562 จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวางแผนอย่างจริงจังเพื่อย้ายแอพพลิเคชั่นที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานไปสู่แพลตฟอร์มคลาวด์ ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แนวคิดนี้กลับเป็นเรื่องน่าขบขันสำหรับองค์กรต่างๆ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีคลาวด์มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการดำเนินงานที่สำคัญอย่างมาก
ปัจจุบันระบบต่างๆ เป็นแบบไฮบริด: ฟูจิตสึเชื่อว่าระบบไอทีแบบไฮบริด ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากระบบคลาวด์สาธารณะ ระบบคลาวด์ภายในองค์กร และระบบไอทีแบบติดตั้งภายในองค์กรในสัดส่วนที่ลงตัว คืออนาคตของสภาพแวดล้อมองค์กร แต่ก็มีแนวโน้มว่าในบางพื้นที่อาจปฏิเสธแนวทางนี้ บริการคลาวด์ภายในองค์กรกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเทคโนโลยีคลาวด์ เนื่องจากเหตุผลเรื่องประสิทธิภาพ การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความปลอดภัย และความใกล้เคียงกับบริการอื่นๆ ดังนั้นระบบคลาวด์สาธารณะเพียงอย่างเดียวจึงไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกโจทย์ความต้องการ
ความเฟื่องฟูของโพลีคลาวด์: สืบเนื่องจากประเด็นข้างต้น มีพื้นที่ซับซ้อนขนาดใหญ่ระหว่างระบบไอทีแบบไฮบริดกับแนวคิด 'โพลีคลาวด์' (poly-cloud) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างใหม่เกี่ยวกับการใช้ระบบคลาวด์สาธารณะและ/หรือระบบคลาวด์ภายในองค์กรหลายระบบ โดยสอดคล้องกับกลยุทธ์ของแต่ละองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของโหลดบาลานซิ่ง (load-balancing) และ/หรือระดับราคา ในปี 2562 สถานการณ์ดังกล่าวจะเปลี่ยนไป เมื่อคำถามหลักจะอยู่ที่ว่า "ระบบคลาวด์แต่ละระบบในโพลีคลาวด์จะช่วยปรับปรุงรูปแบบการค้าและสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของเราได้อย่างไร" คำถามดังกล่าวฟังดูตรงไปตรงมา แต่ประเด็นสำคัญก็คือ ตลาดแพลตฟอร์มขนาดใหญ่มีการผนวกรวมเข้าด้วยกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งถ้าหากเราทุกคนใช้เทคโนโลยีเดียวกัน ความแตกต่างก็ย่อมจะเกิดจากรูปแบบการกำหนดค่าและการบูรณาการระบบโพลีคลาวด์ รวมถึงโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนผ่านระบบโพลีคลาวด์
พันธมิตรด้านเทคโนโลยีจะตอบสนองเป้าหมายทางธุรกิจของลูกค้าได้อย่างลงตัวมากขึ้น: ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เราจำเป็นที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยีและบริการของฟูจิตสึระบุถึงแนวคิดของเทคโนโลยีดิจิตอลที่แท้จริง หรือ 'Real Digital' ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเราพยายามที่จะหลีกเลี่ยงกับดักนี้อย่างไร แนวทางหนึ่งที่เป็นไปได้ก็คือ การสร้างความสอดคล้องอย่างรอบด้านระหว่างพันธมิตรด้านเทคโนโลยีกับลูกค้า ด้วยการกำหนดสัญญาโดยอ้างอิงผลลัพธ์ทางด้านธุรกิจ แทนที่จะอ้างอิงการใช้บริการ ซึ่งในปัจจุบันมักจะอ้างอิงตามจำนวนเวอร์ชวลแมชชีน (virtual machine) หรือยูนิตการใช้งานระบบคลาวด์ที่มีการใช้งานจริง
โมเดลนี้มีอยู่แล้วในภาคธุรกิจอื่นๆ เช่น บริษัทผู้ให้บริการลิฟต์ที่คิดค่าบริการตามชั่วโมงการใช้งานจริง หรือผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินที่คิดค่าใช้จ่ายตามจำนวนชั่วโมงที่ทำการบิน เราคาดว่าโมเดลนี้จะปรากฏให้เห็นอย่างแพร่หลายมากขึ้นในภาคธุรกิจบริการด้านไอทีในช่วงปี 2562 ตัวอย่างเช่น ฟูจิตสึได้พัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับลดข้อผิดพลาดและการฉ้อโกงบนระบบคลาวด์สำหรับหน่วยงานสรรพากรของสหราชอาณาจักร (HMRC) และผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้แอพพลิเคชั่นดังกล่าวก็คือ HMRC สามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 700 ล้านปอนด์ต่อปี ในรูปแบบเศรษฐกิจในอนาคต จำนวนเวอร์ชวลแมชชีนหรือทรัพยากรอื่นๆ ที่ถูกใช้งานจริงจะไม่มีความเกี่ยวข้องอีกต่อไป และโมเดลที่อ้างอิงผลตอบแทน/ผลลัพธ์ทางธุรกิจจะมีความเหมาะสมมากกว่า ทั้งสำหรับลูกค้าและผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี