กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ธพว.
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจสถานภาพผู้ประกอบอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำงานหนักหารายได้ 25 วันต่อเดือน ต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน เหลือรายได้ 12,736.61 บาท แต่ต้องดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ยถึง 4 คน เกิดภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง แถมไม่มีสวัสดิการรองรับ ด้าน SME D Bank รับปากหาแนวทางช่วยเหลือ ประสานพลังงานหน่วยงานพันธมิตร นำนวัตกรรม EV ยกระดับอาชีพบริการรถขนส่งสาธารณะ ลดต้นทุน ลดมลภาวะ เติมคุณภาพชีวิตที่ดี
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวในการแถลงผลการสำรวจ "สถานภาพผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์รับจ้าง" ว่า ข้อมูลของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก ระบุจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับใบอนุญาตทั่วประเทศมี 185,303 ราย ส่วนปัญหาที่ผู้ใช้บริการพบมาก ได้แก่ การทะเลาะวิวาท แย่งลูกค้าระหว่างวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างกับ Grab bike ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน บอกค่าโดยสารเกินควร วินรถเถื่อนไม่มีใบอนุญาต บริการไม่สุภาพ และจอดรถบนทางเท้ากีดขวางทางจราจร
จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 1,243 รายพบว่า 70.06% ได้จดทะเบียนถูกต้องแล้ว และมีรถเป็นของตัวเอง อายุเฉลี่ยของผู้ประกอบอาชีพนี้อยู่ที่ 39 ปี ทำอาชีพนี้มาแล้วเฉลี่ย 8 ปี ในแต่ละเดือนต้องขี่รถเพื่อหารายได้ถึง 25วัน เฉลี่ยวันละ 41 เที่ยว เฉลี่ย 9 ชั่วโมงต่อวัน โดย 79.57% ยึดการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพหลัก เพียงอาชีพเดียว โดยมีรายได้เฉลี่ย 974.81 บาทต่อวัน หรือ 24,370.25 บาทเดือน ขณะเดียวกัน รายได้ดังกล่าวต้องนำไปดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ย 4 คน และเกือบทั้งหมดไม่มีขึ้นทะเบียนเข้ารับระบบสวัสดิการจากภาครัฐ
นอกจากนั้น 37.88% บอกว่าไม่มีการวางแผนการออม ขณะที่ 69.40% บอกว่าในปัจจุบันมีภาระหนี้ ประมาณ 185,858 บาท อัตราการผ่อนเฉลี่ย 5,266.30 บาทต่อเดือน ส่วนทัศนะเกี่ยวการกู้เงินในอนาคต กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 26.92 อยากกู้ในระบบเพื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่
เมื่อถามถึงความต้องการกู้ภายใน 1 ปี นับจากปัจจุบัน จำนวน 31.66% มีความต้องการจะกู้ เพื่อไปชำระหนี้เก่า ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเสริมสภาพคล่อง แทบทั้งหมดต้องการกู้ในระบบ วงเงินเฉลี่ย 230,889.49 บาท อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ต้องการกู้ 53.02% ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ด้วยเหตุผล ขาดหลักประกัน ไม่มีประวัติเคลื่อนไหวทางการเงิน และไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร เป็นต้น
ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 11,633.64 บาทต่อเดือน โดย 3 อันดับแรก คือ ค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ และค่าเช่าเสื้อ ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าว ถือเป็นภาระหนักระดับปานกลางถึงหนักมาก รวมกันถึง 90.29%
กลุ่มตัวอย่าง 64.20% เผยด้วยว่า ยังไม่ได้ใช้แอปพลิเคชันเพื่อบริการรับส่งผู้โดยสาร เนื่องจากมีขั้นตอนและระเบียบยุ่งยาก ใช้แอปพลิเคชันไม่เป็น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งการไม่ใช้แอปพลิเคชัน ส่งผลกระทบลูกค้าไม่เดินมาที่วิน และจำนวนลูกค้าลดลง ส่วนกลุ่มที่ใช้แอปพลิเคชันบริการลูกค้า บอกว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น 1,741.95 บาทต่อเดือน
เมื่อถามว่า หากประสบอุบัติเหตุ หรือมีเหตุจำเป็นไม่สามารถขี่รถจักรยานยนต์ได้ชั่วคราว กลุ่มตัวอย่างถึง 68.87% บอกว่า จะกระทบปัญหาการเงิน ในจำนวนดังกล่าวถึง 40.05% บอกว่ากระทบในระดับมาก ส่วนปัญหาการหารายได้ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างถึง 73.21% ระบุมาจากต้นทุนน้ำมันสูง ส่วนเงินทุนที่ต้องการใช้ซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่เฉลี่ย 61,817.03 บาท
กรณีหากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) มีโครงการค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เพื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันใหม่ กลุ่มตัวอย่าง 27.49% ระบุเข้าร่วม เพราะเห็นว่า เป็นโครงการของภาครัฐที่น่าสนใจ ดอกเบี้ยถูก ลดค่าใช้จ่าย ได้สิทธิประโยชน์ต่างๆ โดยสามารถผ่อนได้สูงสุด 151.12 บาทต่อวัน
สำหรับข้อเสนอแนะและสิ่งที่ต้องการได้รับจากภาครัฐนั้น ได้แก่ 1.ควบคุมราคาสินค้า เช่น ค่าน้ำมัน ค่าเช่าเสื้อวิน ค่าสินค้าทั่วไป เป็นต้น 2.ปรับราคาค่าโดยสาร 3.จัดระเบียบและบทลงโทษให้เคร่งครัด และ 4.สนับสนุนให้มีโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเข้าถึงง่าย ขณะที่ข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารรัฐ ได้แก่ 1.ปล่อยกู้โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือลดอัตราดอกเบี้ย 2.เพิ่มสินเชื่อโดยไม่ต้องมีหลักประกัน และ 3.อำนวยความสะดวกในขั้นตอนดำเนินการให้ง่ายขึ้น
ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ SME D Bank กล่าวว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง ประมาณ 1.8 แสนราย รวมถึงเกี่ยวข้องไปถึงผู้โดยสารอีกจำนวนมาก ดังนั้น อาชีพขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงมีความสำคัญ และควรยกระดับมาตรฐาน ทั้งด้านคุณภาพรถ บริการ และความปลอดภัย
"ผู้ประกอบอาชีพรถจักรยานยนต์รับจ้าง ควรได้รับการดูแล เนื่องจากต้องทำงานหนัก เฉลี่ยขี่รถกว่า 9 ชั่วโมงต่อวัน และไม่มีสวัสดิการจากภาครัฐรองรับ เหลือรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจากการประกอบอาชีพเพียง 12,736.61 บาทต่อเดือน แต่มีภาระดูแลสมาชิกครอบครัวเฉลี่ยถึง 4 คน นำไปสู่ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง ดังนั้น ธนาคารจะนำผลสำรวจ และข้อเสนอแนะจากกลุ่มตัวอย่าง ไปพัฒนามาตรการช่วยเหลือ เช่น ส่งเสริมความรู้ให้นำแอปพลิเคชันมาเพิ่มลูกค้า รวมถึง ช่วยผู้ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างลดต้นทุนค่าใช้จ่าย" นายมงคล กล่าว
นอกจากนั้น SME D Bank และพันธมิตร ได้แก่ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมสนับสนุนการใช้นวัตกรรมยานยนต์ (EV : Electric Vehicle) หรือพาหนะไฟฟ้า ยกระดับปรับเปลี่ยนรถ สำหรับผู้ประกอบอาชีพให้บริการรถขนส่งสาธารณะต่างๆ สร้างประโยชน์ช่วยลดต้นทุนค่าพลังงาน ในขณะเดียวกัน สร้างประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม ลดมลภาวะทางอากาศ และทางเสียง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี
นายมงคล กล่าวต่อว่า หน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันมอบ "3 เติม" ผลักดันผู้ประกอบการด้านขนส่งสาธารณะใช้นวัตกรรม EV ยกระดับอาชีพ ได้แก่ "เติมทักษะ" ผ่านการอบรมความรู้ต่างๆ "เติมทุน" ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน ระยะเวลากู้สูงสุด 7 ปี บุคคลธรรมดา อัตราดอกเบี้ย 3ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย และหากยกระดับเป็นนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยจะถูกลงไปอีก โดย 3 ปีแรกเหลือเพียง 0.25% ต่อเดือนเท่านั้น ส่วนปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาทต่อราย สามารถใช้เป็นทุนหมุนเวียน ลงทุนนวัตกรรม และปรับปรุงธุรกิจให้มีความทันสมัย
เมื่อได้รับการ "เติมทักษะ" และ "เติมทุน" จะนำไปสู่การ "เติมคุณภาพชีวิต" ช่วยให้ผู้ประกอบการอาชีพบริการรถขนส่งสาธารณะ รวมถึงครอบครัว อยู่ดี กินดี มีสวัสดิการในชีวิตมั่นคง คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประโยชน์ที่เกิดขึ้น ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ยังส่งผลดีไปในด้านสังคมอีกด้วย