กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดรับสมัครผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้างเพื่อเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 1 และศาลแรงงานภาค 7
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า กสร.เปิดรับสมัคร
ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เพื่อเป็นผู้พิพากษาสมทบศาลแรงงานภาค 1 และภาค 7 โดยผู้สมัครจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรา 14/1 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เช่น มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี มีภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำงานอยู่ในเขตศาลแรงงานไม่น้อยกว่า 1 ปี เป็นต้น องค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัครคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 1 ได้แก่ สมาคมนายจ้าง รัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงาน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานในเขตศาลแรงงานภาค 1 ได้แก่ จังหวัดชัยนาท นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง สามารถเสนอชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2562 กรณีคณะกรรมการไตรภาคีสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น คณะกรรมการค่าจ้าง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง เป็นผู้เสนอชื่อสามารถเสนอได้ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562 สำหรับองค์กรที่มีสิทธิเสนอชื่อผู้สมัครฯ ในศาลแรงงานภาค 7 ได้แก่ สมาคมนายจ้าง สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป และสหภาพแรงงานซึ่งจดทะเบียนที่ตั้งสำนักงานในเขตจังหวัดกาญจนบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี โดยสามารถเสนอชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2562 กรณีคณะกรรมการไตรภาคีสังกัดกระทรวงแรงงาน เช่น คณะกรรมการค่าจ้าง คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ หรือสภาองค์การนายจ้าง สภาองค์การลูกจ้าง เป็นผู้เสนอชื่อสามารถเสนอชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2562
นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในกระบวนการ
ไกล่เกลี่ย การระงับข้อพิพาท และการพิจารณาคดีในศาลแรงงาน กสร.จึงขอให้ผู้แทนนายจ้างและลูกจ้าง
ร่วมสมัครเพื่อรับการคัดเลือกเป็นผู้พิพากษาสมทบเพื่อจะได้มีส่วนร่วมในการสร้างสันติสุขในวงการแรงงาน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดที่อยู่ในเขตศาลแรงงานภาค 1 และภาค 7 หรือที่สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 8993,
0 2246 8393