กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กทม.
พม. เตือนผู้ประกอบการหอพักทั่วประเทศจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากให้เวลามาตั้งแต่ ต.ค. 50 โดยสิ้นเดือน ม.ค. 51 นี้ เริ่มดำเนินคดีอย่างจริงจัง โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ. 2507 ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมกิจการแทน
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและ ความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) แถลงภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามโครงการจัดระเบียบหอพักและการกำหนดแนวทางปฏิบัติในการออกตรวจหอพักว่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กำหนดมาตรการการจัดระเบียบหอพัก เพื่อควบคุมดูแลสิ่งแวดล้อมของหอพักและความปลอดภัยให้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนในหอพักดังกล่าว รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสังคมและปัญหาเยาวชนที่อาจเกิดขึ้นตามมา โดยมีกรอบการดำเนินงานแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ การยื่นจดทะเบียนและต่อใบอนุญาตหอพัก การออกตรวจเรื่องใบอนุญาตหอพักและให้ปรับปรุงการเรื่องการแบ่งหอพักชาย-หญิง และการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้ พม. ได้มีหนังสือแจ้งตั้งแต่ เดือนต.ค.50 ให้เจ้าของสถานประกอบการทั้งที่อยู่ในรูปแบบของอพาร์ทเม้นท์ แมนชั่น ห้องเช่า หรืออื่นๆ ที่รับนักเรียน นักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ อยู่ระหว่างการศึกษาระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี เข้าพักอาศัยตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยเสียค่าตอบแทน ให้มาจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ภายในวันที่ 31 ธ.ค.50 ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ ได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการมาจดทะเบียนหอพักเพิ่มจำนวน 135 แห่ง จากเดิมที่มีการจดทะเบียนอยู่แล้ว จำนวน 1,255 แห่ง สำหรับในต่างจังหวัด 53 จังหวัด มีสถานประกอบการมาจดทะเบียนเพิ่มจำนวน 1,139 แห่ง รวม 1,274 แห่ง ซึ่งคาดว่ายังมีสถานประกอบการที่ยังไม่ยื่นขอจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมายอีกจำนวนมาก กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงขอให้มายื่นจดทะเบียนภายในสิ้นเดือน ม.ค.51 นี้ หากสถานประกอบการยังไม่มายื่นจดทะเบียน กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะดำเนินการออกตรวจและจับกุมสถานประกอบการที่เข้าข่ายหอพักและยังมิได้จดทะเบียนหอพัก ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยจะมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะนายทะเบียนหอพัก ให้สั่งการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์จังหวัด(พมจ.) ดำเนินคดีกับหอพักที่ไม่มาจดทะเบียนอย่างจริงจัง ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท และจะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมกิจการแทน
ด้าน นพ.สิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจในเรื่องดังกล่าว โดยหลังจากนี้กทม.จะดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการดูแลและดำเนินการควบคู่ไปกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตในการดูแล ควบคุม หอพักให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 โดยหอพักในพื้นที่กรุงเทพฯ ยื่นจดทะเบียนที่สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) ถนนนิคมมักกะสัน เขตราชเทวี โทร.0 2255 5850 - 7 ต่อ 119, 269