กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สำนักวิจัยซูเปอร์โพล
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง ต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่ต้องการ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพ จำนวนทั้งสิ้น 1,432 ตัวอย่าง โดยดำเนินโครงการระหว่าง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา พบว่า เมื่อถามถึงความกังวลต่อความวุ่นวายช่วงเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.6 ไม่กังวล ในขณะที่ร้อยละ 30.4 กังวล
ที่น่าพิจารณา คือ ผลการเปรียบเทียบความตั้งใจจะไปเลือกตั้งของประชาชนวันที่ 24 มีนาคมนี้ พบว่า ประชาชนตั้งใจจะไปเลือกตั้งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 35.3 ที่เคยระบุว่าไปอย่างแน่นอนในการสำรวจครั้งที่ 1 มาอยู่ที่ร้อยละ 58.9 ในการสำรวจครั้งล่าสุดนี้
ที่น่าสนใจคือ ผลการเปรียบเทียบ ต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่ต้องการของประชาชน พบว่า เป็นผู้ชาย อายุ 50 ปีต้น ๆ และเป็นอดีตผู้บริหารธุรกิจระดับสูง อดีตผู้บริหารประเทศระดับสูง แก้ปัญหาผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจ ไม่มีประวัติด่างพร้อย ไม่ใช่คู่ขัดแย้งของใคร โดยลักษณะต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการเช่นนี้เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 25.6 ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ ร้อยละ 40.7 ในการสำรวจครั้งล่าสุด
แต่ ต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการลดลงคือ เป็นผู้ชายอายุประมาณ 40 ปี เคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูง เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ลดลงจากร้อยละ 22.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.5
แต่ ที่น่าจับตามองคือ ต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ชาย อายุกว่า 60 ปี เคยเป็นทหารระดับสูง และเป็นผู้บริหารประเทศระดับสูง แก้ปัญหาหลายอย่าง เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.9 มาอยู่ที่ ร้อยละ 16.2
นอกจากนี้ ที่น่าจับตามองเช่นกันคือ เป็นผู้ชาย อายุ 50 ปีต้น ๆ เคยเป็นนักวิชาการ อดีตผู้บริหารประเทศระดับสูง เด่นด้านคมนาคม และต้นแบบนายกรัฐมนตรีอีกต้นแบบหนึ่งคือ เป็นผู้หญิง อายุเกือบ 60 ปี เป็นนักการเมือง และเคยบริหารประเทศระดับสูง เด่นด้านสุขภาพ เพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 7.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 8.6 ตามลำดับ
ส่วนต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ชาย อายุประมาณ 70 ปี อดีตตำรวจระดับสูง มีผลงานมากมายนั้นยังคงได้รับเหนียวแน่นเช่นเดิมคือร้อยละ 5.4 และร้อยละ 5.4
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า การใช้ต้นแบบนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการในการสำรวจเช่นนี้เป็นการประยุกต์ใช้การวิจัยเชิงสำรวจกึ่งทดลองเพราะถ้าถามตรง ๆ ด้วยการระบุชื่อ อาจจะทำให้ประชาชนไม่ตอบตามความเป็นจริงว่าจะเลือกสนับสนุนใคร แต่ถ้าใช้วิธีนำลักษณะต้นแบบนี้มาถามจะทำให้ "เข้าถึง" ความรู้สึกนึกคิดที่แท้จริงของประชาชนมากขึ้น และทำให้คาดการณ์ได้ว่า ต้นแบบใดที่ประชาชนต้องการอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศคนต่อไป