กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
จังหวัดนครสวรรค์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของการดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเกษตรกร 3,870 รายในพื้นที่ 14 อำเภอของจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเพื่อลดพื้นที่การทำนาปรัง 69,767 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 จำนวน 13,409 ไร่ หรือร้อยละ 23.8 โดยในปีการผลิต 2561/62 เกษตรกรเริ่มลงมือปลูกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 และทยอยเก็บเกี่ยวผลผลิตตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2562 เฉลี่ยผลผลิต 1,200 กิโลกรัมต่อไร่ คาดว่าผลผลิตข้าวโพดในโครงการสานพลังประชารัฐในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์จะมีปริมาณ 84,627 ตัน มูลค่า 590.7 ล้านบาท
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อติดตามผลสำเร็จการดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ในพื้นที่บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 5 ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ชมการสาธิตการเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยรถเกี่ยว และสาธิตการไถกลบตอซังข้าวโพด และการเปิดจุดรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร บริเวณลานรับซื้อผลผลิตการเกษตรของสหกรณ์การเกษตรศาลเจ้าไก่ต่อ จำกัด หมู่ที่ 6 ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสหกรณ์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล เพื่อก่อสร้างอุปกรณ์การตลาดเพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตร ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ปี 2561 เป็นโกดังขนาด 1,000 ตัน และลานตากขนาด 3,200 ตารางเมตร ซึ่งดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จจนทันใช้ประโยชน์ในการรองรับผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรในพื้นที่อำเภอลาดยาวและอำเภอใกล้เคียง
ทั้งนี้ สหกรณ์การเกษตรศาลเจ้าไก่ต่อ จำกัด จะเป็นจุดรับซื้อผลผลิตข้าวโพดจากเกษตรกรในอำเภอลาดยาว อำเภอชุมตาบง และอำเภอแม่วงก์ พื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 9,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตปริมาณ 10,700 ตัน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวโพดฝักสดส่งจำหน่ายให้สหกรณ์แล้ว 1,947 ตัน ความชื้นเฉลี่ย 27 – 30% ราคากิโลกรัมละ 6.70 บาท เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวโพดประมาณ 8,040 บาท/ไร่ ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และส่งต่อให้บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ในอำเภอโคกตูม จังหวัดลพบุรี และผลผลิตส่วนหนึ่งได้ส่งต่อให้ผู้ประกอบการในจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำไปแปรสภาพอบลดความชื้นให้อยู่ที่ 14.5% และส่งจำหน่ายให้กับบริษัท CPF ในราคาหน้าโรงงานกิโลกรัมละ 9.30 บาท
ที่ผ่านมา เกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ยึดประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทั้งการปลูกข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง และถั่วเขียว เป็นต้น และภายหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรัง ทั้งการสนับสนุนปัจจัยการผลิต ทั้งเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ ปุ๋ย การจัดหาเมล็ดพันธุ์ รวมทั้งองค์ความรู้ ที่หลายหน่วยงานทั้งส่วนราชการและเอกชนส่งนักวิชาการลงพื้นที่เพื่อแนะนำทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูก การดูแลแปลงข้าวโพด จนถึงการรวบรวม และการจำหน่ายผลผลิต มีการประสานความร่วมมือระหว่างสหกรณ์การเกษตรกับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ กำหนดจุดรับซื้อและราคารับซื้อผลผลิตที่ชัดเจน
รวมทั้งมีการทำประกันภัยหากพื้นที่ได้รับความเสียหาย เป็นเหตุผลที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ และคาดว่าในฤดูกาลผลิตปีหน้า เกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์จะยังคงหันมาปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาเช่นเดิม เนื่องจากปริมาณผลผลิตต่อไร่สูงกว่าการปลูกข้าว สำหรับพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่อยู่นอกเขตชลประทาน เกษตรกรใช้น้ำจากบ่อตอก หรือน้ำบาดาลตื้น แต่ก็ไม่เป็นปัญหาในการเพาะปลูก เนื่องจากข้าวโพดเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย และหากรัฐบาลยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพดและมีการประกันราคาผลผลิตให้ เกษตรกรก็จะมีความมั่นใจที่หันมาปลูกข้าวโพดกันเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบผลผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาในจังหวัดนครสวรรค์ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะบูรณาการการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานเพื่อปฏิรูปภาคการเกษตร ในปีนี้ นอกจากการสนับสนุนเกษตรกรหันมาปลูกข้าวโพดแทนการทำนาปรังแล้ว จะนำต้นแบบจากโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชชนิดอื่น ๆ เช่น พืชตระกูลถั่ว ทั้งถั่วเขียวและถั่วเหลือง หรือพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยจะให้เกษตรอำเภอลงพื้นที่สำรวจดูว่าพื้นที่ใดบ้างที่ทำนาเป็นประจำแล้ว ผลผลิตต่อไร่ลดลงเหลือไม่ถึง 800 กิโลกรัม และจะร่วมวางแผนกับเกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปปลูกพืชชนิดอื่นที่ให้ผลผลิตดีกว่าและตลาดมีความต้องการ สามารถขายได้กำไรดีกว่าการปลูกข้าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาที่ดินจะร่วมลงพื้นที่คู่กับเกษตรอำเภอ และช่วยวิเคราะห์สภาพดินของแต่ละพื้นที่ว่าเหมาะสำหรับการปลูกพืชชนิดใด ก่อนจะให้คำแนะนำแก่เกษตรกร แต่สิ่งสำคัญคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องประสานผู้รับซื้อและปริมาณความต้องการที่แน่นอนก่อน ถึงจะแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชชนิดนั้น นี่คือนโยบายในการส่งเสริมการทำเกษตรแนวใหม่ เป็นการทำเกษตรกรรมที่ใช้ตลาดนำการผลิต เพื่อพัฒนาอาชีพภาคเกษตรให้มีรายได้ที่มั่นคงและเกิดความยั่งยืนในที่สุด