กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือในการดำเนินงานสนับสนุนพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) ระดับประเทศ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) (สรพ.), สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยมักมองว่าเรื่องการวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ งานวิจัยจึงไม่เกิด โดยในศตวรรษที่ 21 นี้ เชื่อว่าทุกประเทศทั่วโลก มีความต้องการนวัตกรรม เช่น ด้านสาธารณสุขกับนวัตกรรมการบริการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน หากเราไม่พัฒนาอะไรเลยเราจะตามประเทศอื่นไม่ทัน ดังนั้นต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง ซึ่งนวัตกรรมนั้นไม่ได้อยู่ไกลจากตัวเรา เพราะส่วนหนึ่งก็อยู่กับงานประจำของเรา โดยการเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่าเราจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร คนที่มารับบริการจะได้ประโยชน์หรือมีความสุขจากงานของเราได้อย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ ย้ำว่าการทำงานวิจัย R2R นั้นไม่ได้ทำให้ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ในทางกลับกันการทำวิจัยจะช่วยให้เกิดการทำงานสะดวกขึ้น ทำงานหนักน้อยลง เกิดผลดีกับผู้รับบริการ
"กว่า 15 ปี ตั้งแต่มีการสนับสนุนโครงการ R2R ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การพัฒนางานประจำช่วยทำให้เกิดนวัตกรรมในงานบริการ อาทิ พัฒนาระบบการดูแลผู้คลอด เช่น การใช้ถุงตวงเลือดเพื่อประเมินการเสียเลือดที่แม่นยำ เพื่อดูแลการรักษาภาวะตกเลือดหลังคลอดก่อนภาวะช็อค ที่ช่วยลดการเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตของมารดาได้ ดังนั้น งานประจำคือทรัพย์ที่สำคัญ ที่สามารถเปลี่ยนเป็นงานวิจัย สร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ผลักดันสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนของประเทศต่อไป" รมว.สาธารณสุข กล่าว
ทางด้าน นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า คนที่จะรู้และเข้าใจปัญหาต่างๆ ในงานของพื้นที่หรือหน้างานของตนเองได้ดีที่สุด ก็คือบุคลากรที่ทำงานในหน้างาน เพราะปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในงานจะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงาน ค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหาในงานตนเอง เพื่อให้เกิด Work Smart คือ การพัฒนาหาแนวทางให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ที่ดีขึ้น หรือใช้ทรัพยากรลดลง เกิดความคุ้มค่า ซึ่งก็คือวงจรของ R2R นั่นเอง พันธกิจหลักของ สวรส. คือการเสาะหาความรู้ใหม่จากการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาช่วยแก้ปัญหา ตลอดจนการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในระบบสุขภาพ
"โดย สวรส. พร้อมเข้าไปติดอาวุธหรือเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของบุคลากรสาธารณสุขในระดับพื้นที่ ซึ่งปกติทุกคนก็มุ่งที่จะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาในหน้างานของตนเองอยู่แล้ว แต่จะช่วยสนับสนุนให้บุคลากรฯดำเนินการวิจัยได้อย่างเป็นระบบและเกิดความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ สิ่งที่ สวรส. ต้องการให้เกิด คือ การส่งเสริมให้งานวิจัย R2R ก้าวไปสู่ R2P หรือ Research to Policy หรืองานวิจัยที่มีผลในเชิงนโยบาย ที่เป็นข้อมูลการปฏิบัติงานและแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคนหน้างานอย่างแท้จริง โดย สวรส. จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวลรวบรวม และนำเสนอต่อผู้กำหนดนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงระบบหรือการพัฒนาแนวนโยบายต่อไป" นพ.นพพร กล่าว
การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 6 หน่วยงานจะสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา R2R ในระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพ โดยร่วมกันจัดตั้งเครือข่ายวิจัย R2R ทุกระดับในระบบสาธารณสุขและทุกระดับการพัฒนา โดยจะสนับสนุนทางวิชาการในรูปแบบของฐานข้อมูล เว็บไซต์ จดหมายข่าว เพื่อเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะสนับสนุนด้านนโยบาย วิชาการ งบประมาณ และการบริหารจัดการ ให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถดำเนินการวิจัยจากงานประจำเพื่อพัฒนางานบริการสู่ประชาชน, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล สนับสนุนด้านวิชาการ ให้เกิดเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงจัดการประกวดผลงานวิชาการ R2R ดีเด่น, สรพ. บูรณาการสู่กระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพ การบริหารจัดการและการดำเนินงาน, สสส. สนับสนุนงบประมาณ, สปสช. สนับสนุนนโยบายเพื่อพัฒนาให้ประชาชนผู้มีสิทธิตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้รับบริการที่มีคุณภาพ ครอบคลุมมากขึ้น, และ สวรส. สนับสนุนด้านนโยบาย วิชาการ และงบประมาณ เป็นต้น