กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก
การจัดอันดับบริษัทที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้เปิดเผยรายงานประจำปี ว่าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีฟู้ด ได้ขยับอันดับดีขึ้นในการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ อย่างไรก็ตามยังคงมีอีกหลายประเด็นที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาต่อ เช่น การบังคับใช้นโยบายสวัสดิภาพสัตว์อย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ ตลอดจนการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน
การจัดอันดับบริษัทที่มีการจัดการสวัสดิภาพสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม (The Business Benchmark on Farm Animal Welfare - BBFAW) สนับสนุนโดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection) และ Compassion in World Farming ได้เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุดจากการประเมินบริษัทด้านอาหารระดับโลกกว่า 150 แห่ง ในปี พ.ศ.2561 โดยรายงานได้แบ่งอันดับการจัดการสวัสดิภาพในฟาร์มของบริษัทออกเป็น 6 ระดับ โดยระดับสูงสุดคือระดับ 1 แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำในด้านนี้ ในขณะที่ระดับ 6 แสดงให้เห็นถึงการขาดแนวทางปฏิบัติหรือขาดหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มในการดำเนินธุรกิจ
ตั้งแต่ที่บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ได้เข้าสู่การจัดอันดับนี้ครั้งแรกในระดับ 6 เมื่อปีพ.ศ.2559 ก็ได้แสดงจุดยืนอย่างต่อเนื่องในการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มตามหลักอิสรภาพสัตว์ 5 ประการ (5 Freedoms) ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติสากล และยังได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ที่มีการเรียกร้องอย่างอย่างกว้างขวางในฟาร์มหมู โดยการประกาศยุติการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซองในประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2568 และในประเทศอื่นภายในปีพ.ศ. 2571 อย่างไรก็ตามพันธะสัญญานี้ไม่ได้ครอบคลุมในประเทศจีนและอินโดนีเซีย
นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการแคมเปญสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า
"ซีพีจำเป็นต้องทำให้นโยบายยุติการเลี้ยงแม่หมูแบบยืนซอง ถูกนำไปปฏิบัติใช้จริงในทุกประเทศที่บริษัทได้ดำเนินกิจการอยู่ โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกขอเรียกร้องให้ซีพีขยายนโยบายดังกล่าว ไปยังประเทศจีน และอินโดนีเซีย เราเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้จริง โดยองค์กรฯ ได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตหมูชั้นนำต่างๆ ในประเทศจีน เพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบการจัดการสวัสดิภาพหมูในฟาร์มดีขึ้นอย่างยั่งยืน
จากการที่ซีพีเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกนั้น เราคาดหวังให้บริษัทพัฒนาแนวทางการดำเนินงานที่โปร่งใส และมีระยะเวลากำหนดอย่างชัดเจน ในการยกระดับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มด้านต่างๆ เช่น ยุติการตัดอวัยวะบางส่วนของลูกหมูอย่างทารุณ หรือการส่งเสริมให้ผู้เลี้ยงเพิ่มวัสดุเสริม (Enrichment) ที่ช่วยให้สัตว์ลดความเครียดและสามารถแสดงออกทางพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมไว้ในคอกการเลี้ยงแบบรวมกลุ่ม"
นายโชคดี ยังกล่าวย้ำว่า
"อันดับการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มของเครือเจริญโภคภัณฑ์สามารถก้าวขึ้นสูงกว่านี้ได้ โดยการเผยแพร่ข้อมูลของวิธีปฏิบัติตามนโยบายการจัดการด้านสวัสดิภาพสัตว์ที่ประกาศไว้ ตลอดจนการรายงานผลสำเร็จของสัดส่วนความก้าวหน้าในการเอาแม่หมูออกจากซองในแต่ละประเทศ"
ทั้งนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ทำงานร่วมกับผู้ผลิตชั้นนำระดับโลกเพื่อยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม รวมถึงบริษัทเบทาโกรในประเทศไทย โดยในปีพ.ศ. 2560 เบทาโกรได้ประกาศพันธะสัญญาต่อสาธารณะในการยุติการเลี้ยงหมูในซองระหว่างการตั้งครรภ์และคลอดในทุกพื้นที่ภายในปี พ.ศ. 2570
เกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (World Animal Protection)
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ขับเคลื่อนโลกเพื่อปกป้องสัตว์มาตลอด 50 ปี องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกทำงานเพื่อให้สัตว์มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการทำงานร่วมกับบริษัทต่างๆเพื่อสร้างความมั่นใจว่าบริษัทเหล่านั้นจะมีการดูแลสวัสดิภาพสัตว์ให้ได้มาตรฐาน เราทำงานร่วมกับคณะรัฐบาลและภาคส่วนอื่นๆ เพื่อป้องกันการทำทรมานสัตว์จากการค้าสัตว์ การจับสัตว์ หรือการฆ่าสัตว์ และช่วยปกป้องชีวิตสัตว์รวมทั้งปศุสัตว์ของประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตขึ้นอยู่กับพวกมันในสถานการณ์ภัยพิบัติ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังช่วยผลักดันผู้มีอำนาจตัดสินใจให้เพิ่มการดูแลปกป้องสัตว์ในนโยบายทั่วโลก และสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนปกป้องสัตว์และร่วมเปลี่ยนแปลงชีวิตสัตว์ให้ดีขึ้น พบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกได้ที่ www.worldanimalprotection.or.th