กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี
"ไม้เท้านำทาง" (PMK: Disable Staff Navigator) สิ่งประดิษฐ์ช่วยผู้ป่วยทางสายตา ตรวจจับระยะ 100 ซม. ผลงานความร่วมมือ 3 สถาบัน นำโดย รศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม หัวหน้าสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี รศ.ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี พร้อมด้วย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ผนึกกำลังคิดค้นร่วมกับโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า
พ.อ.ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า ด้วยโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามีทหารที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะและใบหน้า ในบางรายนอกจากบาดเจ็บทางสมองแล้วอาจสูญเสียการมองเห็น จึงได้ร่วมมือเพื่อหาสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาช่วยผู้ป่วย โดยทางอาจารย์ได้คิดค้นแว่นตานำทาง ขึ้นมาเพื่อให้ผู้พิการสามารถนำไปช่วยพัฒนาทักษะในด้านการเดินและหลบหลีกสิ่งกรีดขวางด้านบน ซึ่งได้ผลมาก แต่ในขณะเดียวกันการหลบหลีกสิ่งกรีดขวางด้านล่างมีความจำเป็น จึงได้นำแว่นตานำทางมาตายอดและพัฒนาเป็นไม้เท้านำทาง
โดย พ.อ.รศ.นพ.สุธี พานิชกุล กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันนี้มีผู้ป่วยราชการสนามที่ได้รับผลกระทบจากสะเก็ดระเบิด มีอยู่หลายราย รวมไปถึงบุคคลหรือพลเรือนที่ได้รับบาดเจ็บหรือพิการตั้งแต่กำเนิดในประเทศไทยมีผู้พิการประเภทนี้มากกว่า 100,000 คนเลยทีเดียว ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาต่อยอดสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเพื่อช่วยอำนวยความสะดวก
รองศาสตราจารย์ ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าวว่า นวัตกรรมต่อยอดจาก "PMK Glasses Navigator" แว่นตานำทาง มาเป็นไม้เท้านำทาง โดยมีนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ ประกอบด้วย นายกฤตนัย พิรุณคุณกาญจน์ และนายพรหมมินทร์ โสมวิภาต ผู้ช่วยงานวิจัยนี้ หลักการทำงานของไม้เท้านำทาง เมื่อผู้พิการนำไปใช้เมื่อเจอสิ่งกรีดขวางด้านล่าง จะทำให้ไม้เท้ามีลักษณะสั่น ทำให้ผู้พิการรู้ว่าด้านหน้ามีสิ่งกรีดขวาง สำหรับระยะการตรวจจับนี้จะอยู่ประมาณ 100 ซม. ภายในกล่องควบคุมประกอบไปด้วย มอเตอร์ขนาดเล็ก ไมโครคอนโทรลเลอร์ เซ็นเซอร์ และวงจรไฟฟ้า โดยนำไปนี้ได้นำทดสอบกับผู้พิการทางสายตา 2 คน คือ คุณมเหศักดิ์ วงษ์นอก และคุณพูลทิพย์ หิรัญโน ซึ่งเป็นผู้พิการตาบอดทั้ง 2 ข้าง จากการทดสอบกับผู้พิการทั้ง 2 คน มีความพึงพอใจในการใช้งาน แต่ต้องการให้ไม้เท้ายาวกว่านี้ โดยทางทีมงามวิจัยได้นำคำแนะนำไปปรับปรุงพัฒนาต่อไป