กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ. ดร. เกษม ชูจารุกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ 5 จากขวา) จัดเสวนาวิชาการ หัวข้อ การประยุกต์ใช้ iRAP Star Rating บนโครงข่ายถนนในประเทศไทย และทิศทางการพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยทางถนน สำหรับผู้ใช้ทางทุกประเภท โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน จากสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม เข้าร่วมประชุมและเสนอความคิดเห็น ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562
ทั้งนี้โปรแกรม iRAP (International Road Assessment Program) เป็นโปรแกรมที่ใช้ในการประเมินสภาพความปลอดภัยของถนน ทั้งในมิติของผู้ขับขี่รถยนต์ ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ ผู้ใช้จักรยาน และคนเดินเท้า ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และได้นำมาใช้ในการสำรวจและประเมินความปลอดภัยทางถนนในกรุงเทพมหานคร ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์
เกี่ยวกับโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก มูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์
About Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety (BIGRS)
กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ซึ่งมีสำนักงานที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่เข้าร่วม โครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety; BIGRS) เป็นระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2558-2562) โดยมุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด โดยผ่านการรณรงค์สร้างจิตสำนึกเพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน อาทิ ดื่มไม่ขับ การใช้ความเร็วที่เหมาะสม การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย รวมถึงการออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น