กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กรมส่งเสริมการเกษตรเผยแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 ยังคงยึดหลักมุ่งเน้นคุณภาพโดยให้จังหวัดในภาคตะวันออกและภาคเหนือวางแผนบริหารจัดการผลไม้แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยเฉพาะทุเรียนเน้นรณรงค์พิเศษสั่งจับตาเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลไม้ในภาคตะวันออกปี 2562 จะมีผลผลิตรวม ทั้ง 4 ชนิด ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ประมาณ 911,434 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากช่วงกลางเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งผลผลิตภาพรวมของทั้ง 4 ชนิดจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาทุกชนิด คือ ทุเรียน จำนวน 511,872 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 403,906 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.73 เงาะ จำนวน 194,513 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 173,224 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.29 มังคุด จำนวน 181,390 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่มีจำนวน 73,576 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 146.53 และลองกอง จำนวน 23,659 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 16,319 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.98 ส่วนผลไม้ภาคเหนือ คือ ลิ้นจี่ จำนวน 41,473 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 41,220 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.61 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้ต้นไม้ผลมีเวลาพักสะสมอาหารนาน
ทั้งนี้ จากการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก (ทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง) และแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลิ้นจี่) โดยมอบหมายให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่ ปี 2562 ให้เป็นไปตามกลไกของตลาดปกติ เน้นการบริหารจัดการเชิงคุณภาพ 3 ระยะ ตั้งแต่ระยะก่อนเก็บเกี่ยว โดยส่งเสริมการผลิตให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน GAP รวมกลุ่มแปลงใหญ่ และเชื่อมโยงตลาดล่วงหน้า ระยะเก็บเกี่ยว แนะนำเก็บเกี่ยวระยะเหมาะสม ป้องปรามผลผลิตด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด ส่งเสริมการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ ระยะหลังเก็บเกี่ยว ให้คำแนะนำการเตรียมความพร้อมของต้นสำหรับฤดูต่อไป ส่วนการจัดการเชิงปริมาณ ก่อนเก็บเกี่ยว ให้สำรวจและจัดทำข้อมูลประมาณการผลผลิต ระยะเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และบริโภคผลไม้ตามฤดูกาล หลังเก็บเกี่ยว ส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าผลไม้ พร้อมติดตามสถานการณ์ ประเมินผล เพื่อปรับปรุงแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ปีต่อไป โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เกษตรกรต้องสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาไม่ต่ำกว่าต้นทุนการผลิต และราคาเฉลี่ยของผลผลิตตลอดฤดูกาลมีราคาสูงกว่าต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ยอดนิยมของตลาดและผู้บริโภคได้กำหนดมาตรการระยะสั้นเพื่อควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อนไม่ให้ออกนอกแหล่งผลิต ด้วยการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อช่วยกันสกัดกั้นทุเรียนอ่อนในจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ โดยใช้บทลงโทษทางกฎหมาย ได้แก่ 1) กฎหมายอาญามาตรา 271 (93) ผู้ใดขายโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 2) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่น อันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ พร้อมทั้งรณรงค์แก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรทำผลผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP ส่งเสริมการบริโภคผลไม้โดยตรงกับผู้บริโภค การใช้สติ๊กเกอร์ติดขั้วทุเรียนเพื่อรับรองคุณภาพสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณผลผลิตของไม้ผลภาคตะวันออกจะออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงเดือนเมษายน อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นวันหยุดต่อเนื่องจากเทศกาลสงกรานต์ อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนแรงงานภาคเกษตรในการช่วยจัดการผลผลิต จึงต้องเฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษหากมีผลผลิตส่วนเกินที่อาจบริหารจัดการไม่ได้ สำหรับช่องทางการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก แบ่งเป็น ทุเรียน การกระจายผลผลิตภายในประเทศ 61% แปรรูป 13% และส่งออก 21% เงาะ การกระจายผลผลิตภายในประเทศ 82% แปรรูป 7% และส่งออก 11% มังคุด กระจายผลผลิตภายในประเทศ 67% แปรรูป 6% และส่งออก 27% และลองกอง การกระจายผลผลิตภายในประเทศ 82% และส่งออก 18%