กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--ปตท.
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการกำหนดค่าเช่าท่อส่งก๊าซฯ ในส่วนที่ ปตท. โอนให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ซึ่ง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ ปตท. ได้พิจารณาสรุปร่วมกันในอัตราขั้นบันไดที่เริ่มตั้งแต่ 5-36% หรือ 180 — 550 ล้านบาทต่อปี ว่า เป็นสัดส่วนที่เหมาะสมและเป็นธรรม ทั้งสำหรับกระทรวงการคลัง ปตท. ผู้ถือหุ้น และผู้บริโภค เนื่องจาก ปตท.จะโอนเฉพาะทรัพย์สินซึ่งรวมถึงท่อส่งก๊าซฯ ให้กับกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยภาระหนี้สินคงค้างที่เกิดจากการสร้างท่อดังกล่าวยังคงอยู่ที่ ปตท. นอกจากนี้ ในส่วนของค่าเช่าท่อส่งก๊าซฯ ที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังนั้น ปตท.ก็จะเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยไม่ได้ผลักภาระไปให้กับประชาชน ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าท่อก๊าซฯ ดังกล่าวจะใช้คำนวณค่าเช่าย้อนหลังนับจากวันแปลงสภาพ ปตท. เมื่อ 1 ตุลาคม 2544 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากตัวเลขเบื้องต้นของ ปตท.จะได้ค่าเช่ารวมดอกเบี้ยย้อนหลัง 7.5% คิดเป็นเงินประมาณ 1,520 ล้านบาท โดยการจ่ายเงินงวดแรกจะทำได้หลังจากที่กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง และ ปตท. ได้ลงนามในสัญญาร่วมกันและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อมูลเรียบร้อยแล้ว สำหรับมูลค่ารวมสัญญาเช่า 30 ปี จะอยู่ระหว่าง 5,400 - 16,500 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับรายได้รวมที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปี ซึ่ง ปตท. จะหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งว่าจะต้องขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นหรือไม่
สำหรับรายละเอียดอัตราค่าเช่าในลักษณะขั้นบันไดจะเป็นดังนี้
ช่วงรายได้ (ล้านบาท) อัตราค่าเช่า
0 — 3,600 5%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,601 — 3,700 10%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,701 — 3,900 15%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,901 — 4,100 20%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,101 — 4,300 25%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,301 — 4,500 30%
รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,501 — 5,000 36%
ทั้งนี้ คิดเป็นค่าเช่าต่อปีต่ำสุด 180 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 550 ล้านบาท