กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ศนส.) ประสบผลสำเร็จในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่มของเหลือทิ้งจาก "มะขาม" ได้แก่ สารสกัดจากเปลือกและเมล็ดมะขาม นำมาพัฒนาในรูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม มุ่งสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้บริโภค เสริมความเข้มแข็งให้กับประกอบการ/อุตสาหกรรม
นับเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการใช้องค์ความรู้จากวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ของเหลือทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม โดย วว. ได้พัฒนากรรมวิธีในการสกัดสารสำคัญ Tamarind Seed Polysaccharide (TSP) จากแป้งเมล็ดมะขาม ที่มีความบริสุทธิ์และมีเปอร์เซ็นต์ผลผลิตสูง สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่มีกลิ่นหืนด้วยเทคโนโลยีการสกัดที่ไม่ซับซ้อน สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมยา อาหาร และเครื่องสำอาง อีกทั้งยังมีคุณสมบัติในการกักเก็บและปลดปล่อยตัวยาได้ดี มีการยึดติดที่ดี มีการบวมน้ำและทนต่อความร้อนสูงได้ดี สามารถพัฒนาเป็นพาหนะในระบบนำส่งตัวยา (drug delivery system) ในระบบทางเดินอาหาร กระพุ้งแก้ม ในช่องปาก และยาหยอดตาในระบบการมองเห็นได้ นอกจากนี้ยังเป็นองค์ประกอบโพลิเมอร์ทางธรรมชาติที่สามารถพัฒนาเป็นผ้าเส้นใยนาโนจากธรรมชาติได้
จากประสิทธิภาพดังกล่าว วว. ได้พัฒนาสารสกัด TSP จากแป้งเมล็ดมะขามเพื่อเป็นแผ่นฟิล์มโดรเจลใช้ปิดแผลและลดการอักเสบของแผลในช่องปาก ซึ่งสามารถใช้เป็นวัสดุนำส่งตัวยาต้านอักเสบในช่องปากได้
โดยได้พัฒนาเป็นสองผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.แผ่นฟิล์มโดรเจลบรรจุสารสำคัญยูจีนอล ที่มีอยู่ในใบโหระพา กานพลู จันทน์เทศ และใบพลู ใช้เป็นยาฆ่าเชื้อโรค ยาชา ยาต้านอักเสบที่ช่วยบรรเทาการปวดได้ 2.แผ่นฟิล์มโดรเจลที่บรรจุสารสกัดจากว่านนาง ซึ่งเป็นพืชหอมที่อยู่ในวงศ์ขิง ข่า ใช้ในแผนโบราณรักษาทางผิวอาการหนัง ระบบหัวใจและการหายใจ มีสารสำคัญเคอร์คูมินอยด์ที่มีอยู่ในขมิ้น มีฤทธิ์ทางยาในการต้านการอักเสบ รักษาแผล ต้านการเกิดออกซิเดชั่น ต้านการเกิดมะเร็ง เป็นต้น ทั้งสองผลิตภัณฑ์ผ่านการทดสอบการต้านอักเสบในเซลล์เปรียบเทียบกับยามาตรฐาน diclofenac และผลิตภัณฑ์แผ่นปิดแผลที่จำหน่ายในประเทศแถบยุโรปชนิดหนึ่งพบว่า ทั้งสองผลิตภัณฑ์สามารถลดการอักเสบในเซลล์ได้ดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในประเทศแถบยุโรป โดยผลิตภัณฑ์ที่มียูจีนอลเป็นองค์ประกอบ ลดการอักเสบในเซลล์ได้ดีที่สุดและดีกว่ายามาตรฐาน diclofenac
วว.ยังได้พัฒนาเป็นนวัตกรรม ได้แก่ 1.แผ่นปิดแผลนาโน (Nanofiber-mats) ชนิด non-woven โดยใช้เทคโนโลยีอิเล็กโตรสปินนิ่ง (Electrospinning) ที่บรรจุสาระสำคัญออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรเพื่อปิดแผลที่ผิวหนัง ลดการอักเสบและลดการติดเชื้อของแผลที่ผิวหนัง ทั้งนี้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยดังกล่าวจำนวน 5 ฉบับ และมีการจดลิขสิทธิ์แล้ว 2.แผ่นมาส์กหน้าไฮโดรเจล (Hydrogel mask) เซรั่มบำรุงผิวหน้า ยาสีฟัน รวมถึงสารสกัดที่เป็น food and cosmetic ingredients จากเปลือกหุ้มเมล็ดมะขามที่เป็นของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตแป้งมะขามส่งออก
นอกจากนี้ วว. ได้ใช้เทคโนโลยีเอ็นแคปซูเลชัน (encapsulation) สารสกัดเมล็ดมะขามในโซเดียมอัลจิเนตเจลบีด : ไอออน-แทม (IONTAM Encapsule) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่พัฒนาขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพของสารสำคัญ (Ingredient) จากสารสกัดเมล็ดมะขาม ซึ่งเป็นของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหาร ให้มีความคงตัวและสามารถควบคุมการปลดปล่อยสารสำคัญได้ ในรูปแบบผลิตภัณฑ์เจลบีดสารสกัดเมล็ดมะขามเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร "IONTAM Encapsule" ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สามารถนำเทคโนโลยีนี้ประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้ โดยใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ไอศกรีม ซูชิ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และขนมปัง เป็นต้น
ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมสารสกัดเมล็ดมะขาม เป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยของ วว. ในการเพิ่มมูลค่าของเมล็ดมะขาม สามารถดื่มก่อนหรือหลังการออกกำลังกายเพื่อชดเชยการเสียน้ำและเกลือแร่ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะ oxidative stress ที่เกิดจากอนุมูลอิสระที่มากเกินไปจากการออกกำลังกายอย่างหนักและยาวนาน ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยในระเซลล์ (cytotoxicity test) และสัตว์ทดลอง (oral acute toxicity test) ซึ่งไม่พบความเป็นพิษใดๆในการบริโภคปริมาณสูง พร้อมทั้งผ่านการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคในกลุ่มผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำอยู่ในระดับมากกว่าร้อยละ 70 ที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเกลือแร่ผสมสารสกัดมะขาม
ผลงานวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมดังกล่าว เป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมของ วว. ในการนำ วทน. เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าเมล็ดมะขามเหลือทิ้งจากไร่มะขาม เมล็ดมะขามเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตน้ำมะขามส่งออก ซึ่งจากเดิมเกษตรกรจะขายเมล็ดมะขามโดยมีราคาการจำหน่ายอยู่ประมาณกิโลกรัมละ 3 บาท ผลจากการเพิ่มมูลค่าดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้แก่เกษตรกร ผู้ประกอบการ ได้มากกว่า 30,000 บาทต่อกิโลกรัม นับเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน ให้เกษตรกร โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึง value chain ของเมล็ดมะขามได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัย วว. ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 E-mail : tistr@tistr.or.th