กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรจากเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่เหมาะสมและไม่ปลอดภัย
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่พร้อม ณ ห้องประชุมสมบูรณ์ วัชโรทัย อาคาร 1 ชั้น 2 กรมอนามัย ว่า ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในประเทศไทยถือได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการตัดสินใจของผู้หญิงเมื่อตั้งครรภ์ไม่พร้อมอาจนำไปสู่การยุติการตั้งครรภ์หรือ
การตั้งครรภ์ต่อก็ได้ และส่วนหนึ่งในการตั้งครรภ์ต่อนั้น อาจเกิดขึ้นเนื่องจากเข้าไม่ถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตลอดจนอายุครรภ์มากเกินไป สำหรับประเทศไทย การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยต้องดำเนินการภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาและข้อบังคับของแพทยสภา ซึ่งปัจจุบันการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยมี 2 วิธี คือ การใช้กระบอกดูดสุญญากาศหรือไฟฟ้า และการใช้ยา โดยกรมอนามัยได้พัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อให้สามารถจัดบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันและพัฒนาให้เกิดเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral system for Safe Abortion: RSA) หรือเครือข่ายอาสา RSA ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนแพทย์อาสา RSA ทั้งสิ้น 130 คน และสหวิชาชีพอาสา RSA ทั้งสิ้น 348 คน โดยได้รับการสนับสนุนค่าชดเชยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และการคุมกำเนิดกึ่งถาวรหลังยุติการตั้งครรภ์
ที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำและการแท้งซ้ำ จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
"จากการดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการเข้าถึงบริการปรึกษาทางเลือกในการตั้งครรภ์ต่อหรือการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย รวมทั้งลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น โครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม จึงถือได้ว่ามีเป้าหมายในการพัฒนาระบบการดำเนินงานของเครือข่าย ทั้งการตั้งครรภ์ต่อและการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อให้มี
ความเข้มแข็ง เข้าถึงได้ ตลอดจนสามารถจัดบริการได้อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร รวมทั้งการแสวงหาความต่อเนื่อง
ในการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืนในระบบต่อไป" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ทางด้าน ทันตแพทย์ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนัก 2 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เห็นความสำคัญ จึงร่วมมือกับกรมอนามัยและเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม จัดทำโครงการพัฒนาเครือข่ายบริการทางเลือกที่ปลอดภัยและเป็นมิตร สำหรับวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับโครงการสายปรึกษาทางเลือกท้องไม่พร้อม 1663 ทั้งนี้ สสส. ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานโครงการดังกล่าว ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – กันยายน 2563
โดยมีวัตถุประสงค์ 1) พัฒนาความเข้มแข็งและเครือข่ายหน่วยบริการที่ดูแลช่วยเหลือวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ต่อ
2) ขยายบริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่ปลอดภัยอย่างทั่วถึง ด้วยการพัฒนาศักยภาพและความเข้มแข็งของเครือข่ายอาสาส่งต่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย (Referral system for Safe Abortion: RSA) 3) สร้างความเข้าใจสาธารณะต่อสิทธิ
ในทางเลือกของวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม โดยใช้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์ การรณรงค์ และเวทีเสวนาต่างๆ
และ 4) การจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและผลักดันข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
ทางด้าน รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม กล่าวว่า กรณีวัยรุ่นและผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่ตัดสินใจตั้งครรภ์ต่อ จะมีเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิง
ที่ท้องไม่พร้อมดำเนินงานขับเคลื่อน โดยมุ่งให้ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อม สามารถเข้าถึงทางเลือกและบริการต่างๆ ที่ต้องการได้อย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย โดยเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม มีองค์กรสมาชิกจากภาครัฐ องค์กรสาธารณกุศล และนักวิชาการ กว่า 80 องค์กร ดำเนินงานภายใต้วัตถุประสงค์ 4 ด้าน คือ 1) รณรงค์ป้องกันสถานการณ์ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการสอนเพศวิถีศึกษารอบด้าน เสริมทักษะชีวิต และการเข้าถึงบริการคุมกำเนิดที่มีคุณภาพ 2) เสริมพลังให้ผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม ผ่านการพัฒนาบริการให้คำปรึกษาทางเลือกที่ผู้หญิงเข้าถึงได้ 3) พัฒนาเครือข่ายส่งต่อให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพและทางสังคมสำหรับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม ไม่ว่าต้องการยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อ และ 4) สร้างความเข้าใจต่อสังคมและขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม