กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานวันคล้ายวันสถาปนา ส.ป.ก. ครบรอบ 44 ปี ณ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ถนนราชดำเนินนอก ว่า สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นองค์กรหลักของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการจัดหาและดูแลที่ดินเกษตรกรรมสำหรับผู้ไร้ที่ดินทำกินหรือมีที่ทำกินไม่เพียงพอ พร้อมทั้งส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพให้ผู้ที่ได้รับที่ดินมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้ที่เพียงพอ และมีความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ที่มีขนาด 800 - 1,000 ไร่ขึ้นไป ได้เร่งรัดให้ ส.ป.ก. เข้าไปส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่และส่งเสริมให้ทำการผลิตแบบลดการใช้สารเคมี เช่น การทำเกษตรปลอดภัย หรือการทำเกษตรอินทรีย์ พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรหรือสหกรณ์สามารถบริหารจัดการการผลิตและการตลาดได้เองตลอดห่วงโซ่ เพื่อให้เกษตรกรที่ได้รับที่ คทช. ไปแล้วต้องอยู่และตั้งตัวได้ภายใน 3 - 5 ปีต่อจากนี้ไป
"ขอให้ข้าราชการของ ส.ป.ก. ในส่วนภูมิภาคปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของตนเองให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่น ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยขอให้มุ่งเน้นการนำที่ดินในเขต ส.ป.ก. 35 ล้านไร่ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรสูงสุด ซึ่งนับเป็นภารกิจหลักของหน่วยงาน และสนับสนุนให้จัดตั้งในรูปแบบสหกรณ์เพื่อเป็นกลไกในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เหมาะสม และพัฒนาให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการปฏิรูปภาคเกษตรที่เน้นนโยบายตลาดนำการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต สร้างอำนาจต่อรองกับภาคเอกชน และการตั้งจุดรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ เป็นต้น" นายกฤษฎา กล่าว
ด้าน ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโอกาสครบรอบ 44 ปี ส.ป.ก. ยังคงพร้อมที่จะให้การช่วยเหลือและสนับสนุนพี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินให้มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น โดยจะเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาใน 6 ประเด็น คือ 1) การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินให้มีความเหมาะสมและทันสมัยต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน 2) การแต่งตั้งผู้ดูแลพื้นที่ ส.ป.ก. (Area Manager) ในทุกจังหวัดเพื่อทำหน้าที่บูรณาการการพัฒนาพื้นที่ทั้งในเรื่องของน้ำ ดิน ไฟฟ้า ที่อยู่อาศัย เส้นทางคมนาคม การนำตลาดเข้าหาเกษตรกร และการสร้างเครือข่ายกับภาครัฐ สถานศึกษา และภาคเอกชน 3) การจำแนกพื้นที่การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจากการขยายตัวของเขตเมืองและพาณิชยกรรมเพื่อหาแนวทางแก้ไขและป้องกันปัญหาการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ 4) การขยายบริการ Mobile Unit หรือศูนย์บริการประชาชนเคลื่อนที่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พี่น้องเกษตรกรให้ครอบคลุมทุกพื้นที่พร้อมเพิ่มจำนวนรอบการให้บริการให้มากขึ้น 5) การปรับปรุงและขยายศูนย์บริการประชาชน ณ สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดให้มีความกว้างขวางมากขึ้น มีนั่งพักคอยเพียงพอ และมีน้ำดื่มสะอาดบริการ เพื่อความสะดวกสบายของพี่น้องเกษตรกรในการมาติดต่อใช้บริการ 6) การจัดซื้อเครื่องหาพิกัดด้วยสัญญาณดาวเทียม (GNSS ชนิด Rover) จำนวน 88 ชุด เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่รูปแปลงที่ดินเกษตรกรด้วย.