กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--อสมท
ปลายปี 2561 หมอกหนาปกคลุมกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ใช่เมฆหมอกที่เกิดขึ้นตามสภาพภูมิอากาศ มันเป็นดั่งมัจจุราชร้ายในม่านหมอกควันที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษขนาดเล็ก ซึ่งอาจเป็นวิกฤติใหม่ที่คนกรุงต้องเผชิญ แต่สำหรับบางพื้นที่ พวกเขาอยู่กับภัยร้ายนี้มามากกว่าสิบปี ผู้คนเริ่มวิตก เกิดอาการทางร่างกาย แสบตา แสบจมูก และหายใจไม่สะดวก ซ้ำร้ายแม้ฤดูกาลผ่านพ้น ในปี 2555 ค่า PM10 สูงกว่ามาตราฐานถึง 4 เท่าในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย และมีชายชราชาวอ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เสียชีวิตด้วยโรคแทรกซ้อนจากโรคปอดและโรคหอบหืด
หลายคนคิดว่าหมอกควันที่เกิดในเมืองเชียงใหม่ มาจากปริมาณรถยนต์ที่หนาแน่น หรือการเผาขยะและเศษวัชพืช แต่คำตอบกลับพบว่าส่วนใหญ่มาจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งมีทั้งการเผาป่า หรือการเผาในภาคเกษตรกรรม โดยในช่วงที่เกิดวิกฤติหมอกควัน พบว่าลมถูกพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่
ที่นั่นเป็นทิศทางของอำเภอที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของการปลูกข้าวโพดของจังหวัด วิถีดั้งเดิมที่เมื่อโม่เอาเม็ดข้าวโพดออกแล้ว ซังข้าวโพดที่เกิดจากการปลูกนับแสน จะถูกกำจัดโดยวิธีการเผา ที่ต้องใช้เวลากว่าครึ่งเดือนถึงควัน จะมอดดับจนหมด แต่การเผาซังข้าวโพดจะเป็นตัวการที่ทำให้ภาคเหนือต้องทนทุกข์กับหมอกพิษนี้มาจนปัจจุบันหรือไม่
วิกฤติหมอกควันพิษที่ยืดเยื้อมานานนับสิบปี จะมีหนทางใดในการแก้ไข ให้เบาบางลง และใครที่ต้องมีส่วนร่วม รับผิดชอบต่อหมอกควันอันตรายเหล่านี้ ติดตามในข่าวดังข้ามเวลา ตอน มฤตยูในม่านหมอก วันอาทิตย์ที่ 10 มีนาคม 17.00 น. ช่อง 9 MCOT HD หมายเลข 30