กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--สามารถคอร์ปอเรชั่น
จ.ตราด 25 มกราคม 51 : วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประกาศไม่หวั่นสถานการณ์เศรษฐกิจ ปี 51 ย้ำโอกาสเป็นของผู้ที่มีความพร้อมทางการเงินรู้จักเลือกธุรกิจและจังหวะในการลงทุน พร้อมชูกลยุทธ์ SMART นำธุรกิจ “สามารถ” สู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกรอบในปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายรายได้ถึง 30,000 ล้านบาท
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประมาณการรายได้รวมของกลุ่มสามารถในปีที่ผ่านมาต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจการเมือง อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของตลาดแล้วยังถือว่าผลการดำเนินธุรกิจยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ ที่สำคัญในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้เร่งการพัฒนาองค์กรเต็มรูปแบบ ทั้งการปรับโครงสร้างธุรกิจ การพัฒนาเพิ่มมูลค่าสินค้าบริการ การขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ ตลอดจนการพัฒนาทีมงานและสร้างคนรุ่นใหม่ ภาพความสำเร็จในปีที่ผ่านมา จึงไม่ได้เน้นที่รายได้ หากมองถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการคว้าโอกาสธุรกิจในอนาคต เช่น การเซ็นสัญญาความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติเพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์,การพัฒนาคุณภาพบริการ Contact Center จนสามารถคว้ารางวัล Best Contact Center ในภูมิภาคเอเชียของบริษัท วันทูวัน, การดีไซน์มือถือไอ-โมบายให้มีความทันสมัยและHigh tech, การปรับโครงการสร้างธุรกิจ ICT ให้กระชับและมีประสิทธิภาพ, การขยายธุรกิจต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจมือถือ คอนเทนต์, ICT Outsourcing และอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น จำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 16.7 เปอร์เซ็นต์ในประเทศกัมพูชา ยังนำมาซึ่งรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 15.6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นรายได้ 20.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับบริษัท แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิสเซส ซึ่งในปีที่ผ่านมายังได้รับการต่ออายุสัมปทานออกไปอีก 10 ปีรวมระยะเวลาสัมปทานที่เหลือทั้งสิ้นถึง 27 ปี รวมทั้งบริษัท กัมปอต เพาเวอร์แพลนท์ จำกัด ที่ได้ฤกษ์ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงงานกัมปอตซีเมนต์ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ต้นปีนี้ โดยมีอายุสัญญา 10 ปี
“ในปี 2551 แม้จะมีการคาดการณ์ว่าสภาพเศรษฐกิจอาจจะยังไม่สดใสนัก แต่ “กลุ่มสามารถ” กลับกล้าประกาศที่จะเติบโตแบบรุดหน้าอีกครั้ง เพราะเราเชื่อมั่นว่า Demand ในตลาดยังคงมีอยู่ เพียงแต่ต้องรู้จักนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงใจ รู้จักเลือกดำเนินธุรกิจในตลาดที่การแข่งขันต่ำและมีโอกาสเติบโตสูง และรู้จักแสวงหาโอกาสเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่คุ้มต่อการลงทุนให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความพร้อมต่างๆ ของบริษัทฯ เราจึงตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2551 ที่ 30,000 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 40 - 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งสัดส่วนรายได้แยกตามสายธุรกิจ ดังนี้ สาย Mobile Multi-media 21,000 ล้านบาท สาย ICT Solutions 5,000 ล้านบาท และสาย Technology Related 4,000 ล้านบาท โดยทุกสายธุรกิจจะใช้กลยุทธ์หลักร่วมกัน นั่นคือ SMART Strategy
ประกอบด้วย Synergy สร้างทีม สร้างพันธมิตร, Merging & Acquisition ทางลัดสู่ธุรกิจใหม่ที่มีอนาคต, Regional
สร้างชื่อและรายได้ระดับภูมิภาคและ Technology คือ การขยายธุรกิจสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งนี้ได้มีการตั้งเป้าหมายของกลุ่มสามารถในอีก 3 ปีข้างหน้าว่าจะต้องมีรายได้รวมกันไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท และมีกำไรให้ได้ถึง 1,000 ล้านบาท โดยมือถือไอ-โมบายจะต้องเป็นที่หนึ่งของ ASEAN Phone ด้วยยอดขาย 10 ล้านเครื่อง และ ICT Solutions จะต้องสร้างรายให้ได้ 10,000 ล้านบาทในปี 2553”
หรับธุรกิจปัจจุบัน ประกอบด้วย 3 สายธุรกิจหลัก คือ สายธุรกิจ Mobile-Multimedia นำโดย บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ตั้งเป้ารายได้ปี 2551 ที่ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ มียอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรวม 5 ล้านเครื่อง แบ่งเป็น ตลาดในประเทศ 3 ล้านเครื่อง และตลาดต่างประเทศ 2 ล้านเครื่อง เน้นกลยุทธ์เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ i-mobile ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีแผนจะนำโทรศัพท์ i-mobile มาผนึกพลังกับ Content เพื่อให้ลูกค้า i-mobile สามารถใช้ Content ได้สะดวกและหลากหลายขึ้น อาทิเช่นบริการ i-link รวมถึงการเจาะตลาดระดับ Segment ย่อยตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งด้วยคุณสมบัติพิเศษที่ไม่เหมือนใครของมือถือไอ-โมบาย ปีนี้จะมีรุ่นใหม่ๆเปิดตัวอีกกว่า 19 รุ่น เน้นคุณสมบัติที่ตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มมากขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2551 จะเป็นปีทองของการรุกตลาดต่างประเทศของ i-mobile อย่างจริงจัง หลังจากที่ผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างสูงในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย, เวียดนาม, บังคลาเทศ, ลาว, กัมพูชา และอินเดียแล้ว มาในปีนี้จะเริ่มเข้าไปเจาะในตลาดใหม่ๆ ในประเทศแถบตะวันออกกลาง, เอเชียกลางหรือกลุ่มประเทศ Soviet เดิม และประเทศออสเตรเลียเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ทำให้มั่นใจว่า i-mobile จะขึ้นเป็น NO.1 ASEAN Phone ในตลาดต่างประเทศได้โดยมียอดจัดจำหน่ายถึง 10 ล้านเครื่องในอีก 3 ปีข้างหน้า หลังจากได้รับการจัดอันดับในประเทศไทยให้ติด 1 ใน 10 แบรนด์คนไทยที่อยู่ในใจผู้บริโภคมาแล้ว โดยเตรียมค้นหา Brand Ambassador ในแต่ละประเทศภายใต้ character เดียวกัน ที่เป็นทั้งดาราที่มีชื่อเสียง และมีความสามารถหลายด้าน (Multi Talent) เพื่อชูความเป็น Mobile Multimedia ร่วมกับการรุกเพิ่มช่องทางในการขยายเครือข่ายจุดจำหน่ายสินค้าและให้บริการที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยตั้งเป้าการมีช่องทางค้าปลีกทั่วภูมิภาคกว่า 620 จุด ภายในปีนี้
ด้านธุรกิจ Content ตั้งเป้ารักษาความเป็น Content Provider อันดับ 1 ในประเทศทั้งตลาดการให้บริการข้อมูลในรูปแบบของเสียง (Voice) และตลาดการให้บริการข้อมูลในรูปแบบข้อความหรือภาพ (Non-Voice) สำหรับในปี 51 มีการวางแผนขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศที่ได้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ i-mobile แล้วอาทิเช่น มาเลเซีย, อินโดนีเซียและเวียดนาม เป็นต้น และยังมีการเปิดตัวบริการใหม่กับพันธมิตรทางธุรกิจอาทิเช่น บริการ EDT (กินดื่มเที่ยว) สนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น, การพัฒนาต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวกับบริการข้อมูลทางโหราศาสตร์ เป็นต้น และยังเป็นการต่อยอดธุรกิจไปยังช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นนอกจากช่องทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น
สาย ICT Solutions นำโดย บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) (SAMTEL) ดำเนินธุรกิจครอบคลุมทางด้านไอทีและโทรคมนาคม ตั้งเป้ารายได้ปี 2550 ไว้ที่ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตกว่าเท่าตัว (100 เปอร์เซ็นต์) เน้นตลาดภาคเอกชนมากขึ้น เพราะมีการขยายตัวถึง 8.9-9.0 เปอร์เซ็นต์ มากกว่าภาครัฐที่มีเพียง 5.6-6.6 เปอร์เซ็นต์และมองธุรกิจที่มีสัญญาและสร้างรายได้ให้บริษัทในระยะยาว ทั้งนี้ได้ตั้งเป้ารายได้จาก 5 สายงานได้แก่ ด้านบริการเครือข่าย หรือ Network Services โดยคาดว่าจะมีรายได้ทั้งปี ประมาณ 2,400 ล้านบาท, บริการด้าน System Integration แก่โครงการภาครัฐ ซึ่งปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจ e-biz solutions , IT outsourcing และธุรกิจ IP อีกประมาณ 1,100 ล้านบาท ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีรายได้สูงขึ้น โดยพิจารณาจากความต้องการของตลาดและบริการใหม่ๆ ที่พร้อมจะสร้างรายได้ในปีนี้ ปัจจุบันสายธุรกิจ ICT มีโครงการที่มีอยู่ในมือแล้วกว่า 3,500 ล้านบาท เช่น โครงการ เอเอ็มอาร์ โครงการ School Net Phase 2 โครงการเครือข่ายสื่อสารข้อมูลความเร็วสูงระยะที่ 2 และยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลอีกกว่า 10,000 ล้านบาท
สายธุรกิจ Technology Related ตั้งเป้ารายได้ที่ 4,000 ล้านบาท จากบริษัท วันทูวันคอนแทคส์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้าน Contact Center บริษัท สามารถวิศวกรรม จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจด้านเสาอากาศ และจานดาวเทียม และบริษัท วิชั่นแอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม จำกัด และที่น่าจับตามองในปี 2551 คือธุรกิจในต่างประเทศทั้ง บริษัท แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิก เซอร์วิสเซส จำกัด ให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศในประเทศกัมพูชา ที่ในปี 2550 ประสบความสำเร็จอย่างสูงจากเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นกว่า 16.7 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท Kampot Power Plant จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนให้แก่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ในประเทศกัมพูชา ที่ได้ฤกษ์ผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่โรงงานกัมปอตซีเมนต์ โดยตลอดอายุสัญญา 10 ปี จะมีรายได้ประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท รวมทั้งธุรกิจใหม่ล่าสุดที่บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รุกธุรกิจเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่มุ่งเน้นเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า โดยมองความต้องการของตลาดเป็นหลัก โดยเริ่มจากอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมด้านอาหาร และอุตสาหกรรมด้านอัญมณี ตามลำดับ ซึ่งปีนี้จะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ และมีต่อมาคือปี 2552 จะเริ่มรับรู้รายได้ในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ก่อน ที่รายได้ประมาณ 200 ล้านบาท
“ในปี 2551 ภาพของสามารถจะเปลี่ยนแปลงไปทั้งกลุ่ม โดยจะรุกหนักด้านการตลาดมากขึ้น และจะนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเห็นภาพในระยะยาวมากขึ้น มีรายได้สม่ำเสมอในระยะยาว เพื่อหล่อเลี้ยงองค์กรได้อย่างราบรื่น ขณะเดียวกันบริษัทฯ เตรียมพร้อมด้านบุคคลากรรุ่นใหม่ (GEN S) เพื่อพร้อมในการบริหารงานในธุรกิจใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นอย่างมืออาชีพ นอกจากนี้ จากการที่บริษัทได้ลงทุนพัฒนาระบบ IT Consolidation เพื่อให้ได้มาตรฐานสากลทำให้ “บริษัทสามารถ” เป็นบริษัทโทรคมนาคมรายแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน BS7799 ซึ่งแสดงถึงความทันสมัยและช่วยสร้างความพร้อมให้กับบริษัท เพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนธุรกิจของ “กลุ่มบริษัทสามารถ” ให้รุกธุรกิจไปข้างหน้าต่อไป อีกทั้งบริษัทยังคงมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม โดยเน้นการสนับสนุนด้านการศึกษาแก่เยาวชน เช่น โครงการ “ทุนสามารถ” และการจัดกิจกรรมส่งเสริมความสามารถของเยาวชนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยในโครงการ SAMART Innovation Awards อีกด้วย” นายวัฒน์ชัยกล่าวทิ้งท้าย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม PR.Corp.
วรรษกร ปลื้มจิตต์ (ตุ๊ก) โทร. 0-2502-8687 / วทิรา ลุยากร (ใหม่) โทร.0- 2502-8236