กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
เคยตั้งคำถามหรือไม่ว่าทำไมนักวิทยาศาสตร์ดังของโลกส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย หากย้อนกลับไปในอดีตผู้หญิงจำกัดสิทธิในการได้รับสิทธิทางการศึกษาและโอกาสในการแสดงความคิดเห็น สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางสังคมของผู้หญิง กว่าจะมาเป็นเวิร์กกิ้งวูแมน (Working Women) ภาพของ "ผู้หญิง" ที่คุ้นชินตา ต้องผ่านการต่อสู้เพื่อปกป้องและเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศมานานนับศตวรรษ ปัจจุบันประเด็นความเท่าเทียมทางเพศยังคงถูกยกเป็นโจทย์ใหญ่ในการพัฒนามนุษย์ และท้าทายวิธีคิดเรื่องสถานะทางสังคมของเพศต่างๆ ทั่วโลก
สำหรับสังคมไทย "ผู้หญิง" ถูกให้ความสำคัญและมีพื้นที่สำหรับการคิดค้นเพื่อสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ โดยเฉพาะในเชิงครีเอทีฟดีไซน์หรือนวัตกรรม รวมถึงการได้รับการสนับสนุนในการทำงานให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงอย่างเท่าเทียม สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสังคมไทยตื่นตัวและเปิดรับการเปลี่ยนแปลง สำหรับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ไม่เพียงผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพแต่เราเป็นจุดเริ่มต้นของการปั้นนวัตกรหญิงสร้างสรรค์ผลงานเปลี่ยนโลกจากฝีมือคนไทย ร่วมทำความรู้จักและถอดบทเรียนวิธีคิดจาก 4 นวัตกรหญิงลูกพระจอมฯ แห่งยุคดิสรัปชั่น ดังนี้
ผู้หญิงกับการสร้างสรรค์งานออกแบบเพื่อคนทั้งมวล จุดเริ่มต้นความเท่าเทียมของสังคมไทย
"ผู้หญิงในวิชาชีพด้านการออกแบบจะมีความสมดุลทางด้านศาสตร์และศิลป์ จุดแข็งหนึ่งของผู้หญิงในวิชาชีพนี้คือการเก็บรายละเอียดความอ่อนไหวที่ต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัว การคำนึงถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนที่จะมาใช้อาคารที่ออกแบบ"
สำหรับใครหลายๆ คนภาพจำของสถาปนิกหรือนักออกแบบมือหนึ่งในอดีตนั้น คงหนีไม่พ้นเป็นชาย เคร่งขรึม และมาดเฉียบเท่ แต่สจล. ได้ท้าทายทัศนคติและความเชื่อของผู้คนอย่างสิ้นเชิงของผู้คนผลิตสถาปนิกหญิงขึ้น "ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.อัญธิกา สวัสดิ์ศรี" หรือ อ. วิว ที่เด็กๆ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์รู้จักกันดี หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกจากประเทศอังกฤษ อาจารย์วิวได้ต่อยอดและสร้างสรรค์สังคมจากความรู้ที่เธอมี ด้วยการกลับมาเป็นอาจารย์ให้กับเด็กๆ ในรั้วพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบังแห่งนี้ เธอดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. และประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ตลอดการทำงานมามากกว่า 20 ปี เธอมีประสบการณ์มากมายด้านการออกแบบเพื่อความหลากหลายของผู้คนทั้งมวล และการพัฒนาแนวคิดอารยะสถาปัตย์ (Universal Design) ผลงานของเธอได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติมากมายทั้ง โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ได้รับรางวัล Gold Award 2018 จาก International Association for Universal Design ณ ประเทศเยอรมนี การพัฒนาเครือข่ายการออกแบบอารยสถาปัตย์เอเชีย การออกแบบระบบขนส่งมวลชนเพื่อคนพิการได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม หรือการออกแบบอารยสถาปัตย์ย่านลาดกระบัง เป็นต้น
หญิงแกร่งสร้างงานวิจัยพลิกโฉมอุตสาหกรรม ผู้มีอุดมการณ์ยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน
จะมีผู้หญิงสักกี่คนที่เลือกเรียนวิศวกรรมเครื่องกลในอดีต ภาควิชาที่เสมือนถูกจำกัดสำหรับผู้ชาย ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะเรียนตามความชอบของตนเพื่อต่อยอดระบบอุตสาหกรรมอันจุดเริ่มต้นการพัฒนาเศรษฐกิจไทยจากนวัตกรรมการผลิต และเธอทำผลงานออกมาได้ดีจากความมุ่งมั่นตั้งใจจนได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และสำเร็จปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเครื่องกลด้วยวัยเพียง 25 ปี "รองศาสตราจารย์ ดร.วิฑาดา เจษฎารัตนชัย" หรือ อาจารย์แอมที่คุ้นเคยของชาววิศวกรรมเครื่องกล สจล. เธอคือหนึ่งในทีมวิจัยเพื่อออกแบบด้านการถ่ายเทความร้อนในระบบอุตสากรรมการผลิต เพื่อลดการสูญเสียพลังงานและวางแผนด้านเศรษฐศาสตร์การผลิตเพื่อลดต้นทุนในภาคอุตสาหกรรม สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการอนุรักษ์พลังงานในระบบอุตสาหกรรมโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน นอกจากงานในเชิงวิชาการแล้วเธอมีความหลงไหลในการอ่านหนังสือนิยายอิงประวัติศาสตร์ แฟชั่น และการออกแบบอีกด้วย
"เพศไม่ใช่ประเด็นหลักของสร้างสรรค์นวัตกรรม ผู้หญิงถูกมองว่าใส่ใจในรายละเอียดและครีเอทีฟมากกว่าผู้ชาย ผู้ชายถูกมองเป็นตัวแทนของตรรกะและเหตุผล แต่จริงๆ แล้ว เพศไม่ได้กำหนดความเป็นไปของเราเลย ตัวเราต่างหากที่เลือกจะสร้างสรรค์อะไรเพื่อสังคม สิ่งสำคัญไปกว่านั้นคือการมองเรื่องเพศอย่างเท่าเทียมและก้าวข้ามข้อจำกัดที่ถูกตีกรอบไว้ว่าผู้หญิงทำไม่ได้"
ผู้หญิงผู้สร้างวิชาใหม่เพื่อทักษะความเป็นมนุษย์ที่ครบรอบด้าน
พื้นฐานของการใช้ชีวิตให้มีคุณค่าในทุกๆ วัน ส่วนหนึ่งมาจากการตั้งคำถาม เพราะคำถามนั้นจะนำมาซึ่งการแสวงหาคำตอบและการเรียนรู้ ผู้หญิงคนหนึ่งผู้อยู่เบื้อหลังการออกแบบรายวิชาทักษะความเป็นมนุษย์ของนักศึกษาสจล. กับความท้าทายของเด็กรุ่นใหม่ต่อการเรียนการสอนวิชาพื้นฐานในระดับอุดมศึกษา "ดร.อำภาพรรณ ตันตินาครกูล" ผู้อำนวยการสำนักวิชาศึกษาทั่วไป สจล. ผู้หญิงผู้ออกแบบหลักสูตรเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ผ่านการเรียนรู้รายวิชาพื้นฐานสถาบันที่ผสมทั้งศาสตร์และศิลป์ปั้นบัณฑิตที่มีศักยภาพ ความอดทน และคุณธรรมให้กับประเทศ เธอเป็นผู้ริเริ่มการเปิดวิชาเลือก "โหราศาสตร์ไทย" ความท้าทายของวิชานี้คือการพิสูจน์ว่าโหราศาสตร์ไม่ได้ใช้เพียงความเชื่อในการทำนาย แต่คือการศึกษาความสัมพันธ์ของสถิติและดาราศาสตร์ การออบแบบรายวิชานี้เสมือนการตั้งคำถามในการเรียนรู้เพื่อกระตุ้นวิธีการคิดของนักศึกษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการสร้างบัณฑิตให้มองทุกสิ่งบูรณาการเชื่อมโยงกันและวิพากษ์กระแสสังคมให้ได้เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมจากฝีมือคนไทย
"แม้ว่าเรื่องเพศในสังคมโลกจะถูกยกให้เท่าเทียมกัน แต่เราต้องยอมรับว่าเพศหญิงมักถูกตั้งคำถามมากกว่าเพศชาย เมื่อคุณพยายามท้าทายสังคม นั่นเป็นสิ่งที่เราทุกคนรู้และต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง หน้าที่ของเราคือการพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าสิ่งที่ท้าทายนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างสรรค์สังคมโลกน่าอยู่มากยิ่งขึ้น"
ผู้หญิงสร้างคนกับบทบาทที่หลากหลายของชีวิต
"เพศหญิงถูกสร้างให้แข็งแกร่ง แต่เพศไม่ใช่ประเด็นหลักในการสร้างสรรค์ผลงาน หรือตีกรอบไลฟ์ไสตล์ของมนุษย์ ทุกคนไมว่าเพศไหนมีคุณค่าและน่ายกย่องด้วยการกระทำ ความคิด นี่คือสิ่งที่อาจารย์ปลูกฝังกับลูกศิษย์เสมอมา"
เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนคงคุ้นเคยและรู้จักผู้หญิงมากความสามารถอย่างคุณวี วิโอเลต วอเทียร์ นักร้องและนักแสดงที่มีผลงานอย่างมากมายทั้งร้องเพลง แต่งเพลง ภาพยนตร์ มิวสิควิดีโอ ฯลฯ แต่กว่าจะมาเป็นหญิงแกร่งในวันนี้มีผู้หญิงคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในฐานะคุณแม่ที่สร้างสรรค์และแต่งแต้มวิธีคิดศิลปินให้กับลูกสาวคือ "รองศาสตราจารย์ ดร.รุจิรา ตาปราบ" อาจารย์คณะอุตสาหกรรมเกษตร สจล. ผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงและยกระดับนวัตกรรมการผลิตจากพื้นฐานการเกษตรของไทยต่อยอดอุตสาหกรรมอาหารสู่สากล ในฐานะนักวิชาการหญิงเธอคือ ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารคนสำคัญของประเทศไทย ผู้ศึกษาผลกระทบของการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมไทยที่มีผลต่อผู้บริโภค รวมถึงการผลิตอาหารเพื่อผู้สูงอายุ งานวิจัยและงานออกแบบของเธอถูกตีพิมพ์และถูกหยิบยกไปถกประเด็นทั้งในไทยและนานาชาติ นอกจากงานด้านวิชาการที่เธอสนใจแล้วกีฬาว่ายน้ำคือสิ่งที่เธอตกหลุมรัก เธอเป็นตัวแทนระดับสถาบันลงแข่งขันในรายการต่างๆ และสร้างชื่อเสียงในด้านกีฬาอีกด้วย
แม้บางสังคมในโลกจะยังคงมองผู้หญิงเป็นตัวแทนของอารมณ์ ความรู้สึก และความต้องการการดูแล และผู้ชายคือตัวแทนของความเข้มแข็ง ตรรกะ และเหตุผล แต่นวัตกรหญิง สจล. ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่านวัตกรรมหรือวิทยาศาสตร์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ งานสร้างสรรค์ต้องการคนที่กล้าจะท้าทายกรอบวิธีคิดในการเสนอสิ่งใหม่ให้กับสังคม บนพื้นฐานของทฤษฎีและเหตุผลเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น สจล. ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเชิดชูพลังของผู้หญิงและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเปิดพื้นที่สำหรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์ของคนทุกกลุ่ม เพราะเพศไม่ใช่กำแพงที่ถูกสร้างมาเพื่อกำหนดความเป็นเรา และความเท่าเทียมทางเพศของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะยกระดับสังคมให้พัฒนาทุกด้านอย่างเท่าทันการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอกย้ำการเป็นสถาบันหลักในการสร้างนวัตกรรมจากฝีมือคนไทย เพื่อคนไทยทุกคน
สำหรับใครที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า
เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่ www.facebook.com/kmitlnews หรือ www.kmitl.ac.th หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000 – 99