กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน ร่วมรัฐและเอกชน ปั้นนักศึกษาสู่ตลาดแรงงาน ติวเข้มในสปก. หวังไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์เอเชีย
พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีนโยบายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ขับเคลื่อนนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน โดยเฉพาะด้านการผลิตกำลังแรงงาน เพื่อมุ่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในตลาด และยกระดับทักษะฝีมือแรงงานให้เป็นแรงงานคุณภาพ (Super Worker) มีมาตรฐานฝีมือแรงงานรองรับการเติบโต 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และทั่วประเทศ
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ มีความต้องการแรงงานระดับปฏิบัติการเป็นจำนวนมากเพื่อรองรับการผลิต คาดว่าความต้องการยิ่งจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเมื่อการลงทุนเพิ่มขึ้นในฐานะ10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) กพร. จึงดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน 3A ของกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้สถาบันพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ (AHRDA) ร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (อ.กรอ.อศ) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำเนินโครงการฝึกทักษะอาชีพหลักสูตรระยะสั้นฐานสมรรถนะ สาขางานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับนักศึกษาปวส.ปีที่ 2
นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่ามีนักศึกษาให้ความสนใจเข้ารับฝึกอบรมจำนวน 185 คน จากวิทยาลัยเทคนิค 14 แห่ง อาทิ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก วิทยาลัยเทคนิคสุพรรณบุรี วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เป็นต้น ใช้ระยะเวลาฝึกอบรมกับสถาบัน AHRDA เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม- 5 เมษายน 2562 (150 ชั่วโมง) โดยนักศึกษาจะได้ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติใน 5รายวิชา ได้แก่ การควบคุมไฟฟ้าด้วยรีเลย์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ นิสัยอุตสาหกรรม ทักษะงานช่างอุตสาหกรรมสำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการผลิต (เครื่องกลึง, เครื่องกัด) และการเชื่อม MAG สำหรับผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หลังจากนั้นฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการในกลุ่มสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเป็นเวลาอีก 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562- 28 กุมภาพันธ์ 2563 นักศึกษาผ่านการฝึกอบรมจะได้รับโอกาสเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ ซึ่งที่ผ่านมามีนักศึกษาจบการฝึกอบรมทั้งสิ้น 168 คน
"ความร่วมมือตามแนวทางประชารัฐในครั้งนี้ ได้สร้างประโยชน์มากมาย ทั้งช่วยยกระดับนักศึกษาให้มีความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกทำงาน สถานประกอบกิจการได้พนักงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการ ลดระยะเวลาค่าใช้จ่ายด้านการฝึกอบรมพนักงานใหม่ พร้อมแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือได้อย่างยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ หนุนไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคเอเชีย" อธิบดีกพร.กล่าว