กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
มกอช. รับลูกหน่วยงานตรวจสอบอาหารแคนาดา (CFIA) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการทางไกล ติวเข้มกฎหมายอาหารฉบับใหม่ ก่อนเข้าตรวจโรงงานมาตรฐานสูง มั่นใจ! โรงงานไทยไร้กังวล
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ ร่วมกับสำนักงานตรวจสอบอาหารแห่งสหพันธรัฐประชาธิปไตยแคนาดา (Canadian Food Inspection Agency: CFIA) และสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการตามระเบียบกฎหมายอาหารฉบับใหม่ Safe Food For Canadians Act และ Safe Food for Canadians Regulation เพื่อแลกเปลี่ยน ให้ความรู้เกี่ยวกับระเบียบกฎหมายอาหารฉบับใหม่ รวมถึงเรื่องการติดฉลากและสารก่อภูมิแพ้ของแคนนาดา ซึ่งเป็นการสัมมนาแบบ Interactive Webinar ที่ถ่ายทอดผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีผู้ร่วมรับฟัง จำนวน 100 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ผู้ประกอบการจากสมาคมผู้ผลิต สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และผู้แทนของสหพันธรัฐประชาธิปไตยแคนาดา เข้าร่วมการอบรม ณ ห้องประชุม 351 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้นายปราการ วีรกุล ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ มกอช. เป็นประธานการประชุมเตรียมการตรวจสถานประกอบการของไทยที่ผลิตและส่งออกสินค้าไปยังแคนาดา ในโอกาสที่ผู้แทนของหน่วยงานตรวจสอบต่างประเทศ (Foreign Verification Office: FVO) สังกัด CFIA ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อตรวจสอบสถานประกอบการผลิตสินค้าประมงและพืชแปรรูป ตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมายความปลอดภัยอาหารฉบับใหม่ของแคนาดา ร่วมกับมาตรฐานสากลของคณะกรรมาธิการ CODEX ระหว่างวันอังคารที่ 5 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2562 ซึ่งถือเป็นการเดินทางมาตรวจสอบสถานประกอบการของประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2
ประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำด้านการรับรองระบบงานด้านความปลอดภัยอาหารในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกาให้การยอมรับความเท่าเทียมของระบบรับรองระบบงานของ มกอช. กับองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (U.S.FDA) ทั้งในส่วนของระบบงานความปลอดภัยของอาหารและอาหารสัตว์ และพร้อมที่จะขยายขอบเขตการรับรองระบบงานไปสู่สินค้าอาหารกระป๋องที่มีความเป็นกรดต่ำ (Low-acid Canned Food: LCAF) และสินค้าประมง (Seafood) ที่ถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญไปยังภูมิภาคอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารและอาหารแปรรูปจากไทย นับแสนล้านบาทในแต่ละปี
Foreign Verification Office (FVO) เป็นหน่วยงานที่แบ่งส่วนราชการใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2560 เพื่อดำเนินภารกิจหลักในการตรวจสอบสถานประกอบการที่ผลิตและส่งออกสินค้าอาหารและอาหารแปรรูปไปยังแคนาดา ภายใต้ยุทธศาสตร์ Proactive Offshore Preventative Activities ที่แคนาดามุ่งหวังให้สถานประกอบการในต่างประเทศสามารถปฏิบัติด้านมาตรฐานและความปลอดภัยเทียบเท่าอุตสาหกรรมของแคนาดา ผ่านการดำเนินกฎหมายและกฎระเบียบด้านการควบคุมเชิงป้องกัน (Preventive Controls) ที่เป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ด้านการกำกับควบคุมความปลอดภัยอาหารที่ก้าวหน้า ทันสมัย และเป็นสากล ยกระดับจากมาตรฐานการวิเคราะห์อันตรายและควบคุมความเสี่ยง ณ จุดวิกฤติ (HACCP) ในรูปแบบเดิม ซึ่งหลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา ได้ปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายไปแล้วก่อนหน้านี้ เลขาธิการกล่าว...