กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--โฟร์ พีแอดส์ (96)
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ขานรับชาติอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียน แก้ไขปัญหาทุพโภชนาการตามเป้าหมายโภชนาการระดับโลก (Global Nutrition Targets) รวมทั้งลดปัญหาโภชนาการในทุกกลุ่มวัยทุกรูปแบบ
นายแพทย์วัลลภ ไทยเหนือ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียน ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร ว่า สถานการณ์ปัญหา ทุพโภชนาการในประเทศไทยพบเด็กอายุ 0 - 5 ปี มีภาวะเตี้ย อ้วน ผอม ร้อยละ 10.6, 9.1 และ 5.6 ตามลำดับ หรือ 1 ใน 10 ของเด็กปฐมวัยไทยมีภาวะเตี้ยหรืออ้วน และเมื่อเด็กเติบโตเข้าสู่วัยเรียนในช่วงอายุ 6 - 14 ปี มีแนวโน้มพบภาวะเตี้ยร้อยละ 8.3 และผอมร้อยละ 4.3 นอกจากนี้ยังพบว่ามีภาวะอ้วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.1 ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าสถานการณ์เฉลี่ยระดับนานาชาติทีพบว่าอัตราเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ไม่แคระแกร็น อยู่ที่ระดับ 0.89 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยมาตรฐานโลกที่กำนดค่าไว้ในระดับ 0.77
"ปี 2562 นี้ กรมอนามัยจึงได้เป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาทุพโภชนาการตามเจตนารมณ์ของอาเซียนโดยตอบรับการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งเป้าหมายโภชนาการระดับโลก (Global Nutrition Targets) และเป้าหมายโลกในด้านการควบคุมโรคไม่ติดต่อ (9 Voluntary Global NCDs Targets) โดยจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับประชาคมอาเซียน เพื่อป้องกันผลเสียของภาวะเตี้ย อ้วน ผอม และภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งมุ่งลดปัญหาโภชนาการในทุกกลุ่มวัยทุกรูปแบบ นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่ประเทศไทยได้รับเกียรติการเป็นเจ้าภาพต้อนรับสมาชิกอาเซียนให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวคิด องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากความสำเร็จของวงการสาธารณสุขไทย เพื่อนำไปทบทวนรูปแบบการดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการในระดับอาเซียนให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ทางด้านแพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอนามัยและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 70 คน ประกอบด้วย นักโภชนาการ และบุคลากรด้านสาธารณสุขจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งภาคีเครือข่าย เช่น เลขานุการอาเซียน องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ธนาคารโลก เป็นต้น เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการ และส่งเสริมโภชนาการที่ดีเพื่ออาหารสุขภาพ ภายใต้การดำเนินงานความร่วมมือสาธารณสุขอาเซียน พร้อมจัดให้มีการศึกษาดูงานในพื้นที่ที่มีผลงานโดดเด่นในประเทศไทยในด้านโภชนาการ ได้แก่ โครงการควบคุมป้องกันโรคขาดสารไอโอดีนภายใต้พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเยี่ยมชมโรงงานเกลือเสริมไอโอดีน จังหวัดราชบุรี และโครงการสาวไทยแก้มแดง ด้วยวิตามินแสนวิเศษ จังหวัดชลบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งในศึกษาดูงานถือเป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังด้านโภชนาการการระหว่างสมาชิกอาเซียน และ ภาคีเครือข่ายโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยมีภาวะโภชนาการและสุขภาพที่ดี