กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน
"วิเชียร พงศธร" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) คนใหม่ นำทัพเปิดตัว เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) อาวุธหนักปราบคอร์รัปชัน สร้าง Big Data โครงการรัฐที่ใหญ่ที่สุด พร้อมติดระบบประมวล-วิเคราะห์ แจ้งเตือนเมื่อพบพฤติการณ์มิชอบ คาดเปิดใช้ระบบเต็มรูปแบบช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว "เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai)" เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ท่ามกลางความสนใจของภาคีเครือข่าย พลเมืองตื่นรู้สู้โกง และสื่อมวลชนจำนวนมาก
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปี ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นผลสัมฤทธิ์คือประชาชนไทยตื่นรู้ไม่ยอมรับการโกง ซึ่งสะท้อนได้จากผลสำรวจ (โพล) ของในประเทศไทยและต่างประเทศ
นายวิเชียร กล่าวว่า การทำงานสู้โกงอย่างเป็นระบบนั้น ต้องอาศัยเครื่องมือและกลไกสำคัญที่เอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูล เพื่อช่วยให้ประชาชนและองค์กรต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดย เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานรัฐ ได้แก่ 1. ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลาง 2. คลังข้อมูลธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 3. ศูนย์กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนให้สามารถเอาชนะการทุจริตคอร์รั่ปชันได้
"ที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐจะมีข้อมูลอยู่ แต่การเข้าถึงอาจจะยังเป็นไปได้ยาก กลไกไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น ACT Ai จะช่วยให้การเข้าถึงง่ายขึ้น เรียกได้ว่าเป็นอาวุธหนัก อาวุธที่สำคัญที่ทั้งสมาชิก เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันฯ จะร่วมกันใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสังคมให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น" ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าว
ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ข้อมูลที่ปรากฏอยู่ใน เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) จะเป็นข้อเท็จจริงที่ได้รับความยินยอมจากหน่วยงานให้สามารถเปิดเผยได้ ประกอบกับข้อมูลที่ได้รับการเปิดเผยจากสื่อมวลชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ในทุกๆ มิติ โดยระบบจะประมวลข้อมูลเข้าหากัน ซึ่งจะช่วยให้ทุกคนมองเห็นสถานการณ์คอร์รัปชัน และพยากรณ์ได้ว่าทิศทางหรือแนวโน้มการคอร์รัปชันในอนาคตจะเป็นอย่างไร นำไปสู่การพัฒนากลไกการต่อต้านในอนาคตต่อไป
"การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้เป็นสิทธิของประชาชนที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย ป.ป.ช. และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องเปิดเผยให้ทราบ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทำให้การเข้าถึงยาก เสมือนว่าไม่มีการเปิดเผยอย่างแท้จริง ดังนั้นหากจะรอแต่การดำเนินการโดยภาครัฐคงไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่ต้องพัฒนาเครื่องมือนี้ขึ้นมา เหตุผลที่เราต้องเปิดตัวก่อน เนื่องจากในอนาคตอันใกล้นี้จะเกิดการเลือกตั้ง และเราก็ยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะมาจากพรรคใด ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเราจัดทำอาวุธหนักขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เราจึงต้องแถลงให้ทุกท่านทราบ โดยยืนยันเครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) ได้พัฒนามาเป็นเวลานานกว่า 2 ปีแล้ว"ดร.มานะ กล่าว
ดร.มานะ กล่าวอีกว่า เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) จะมีการพัฒนาระบบ Ai อัจฉริยะ ประมวลผลเต็มรูปแบบ และเปิดให้สามารถใช้ได้ในทุก Platform ทั้งในรูปแบบของ Website และ Application เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับสื่อมวลชนที่จะนำไปต่อยอด ตีแผ่ เช่น การก่อสร้างศาลากลางจังหวัดสร้างที่ไหน ราคาเท่าใด ใครเป็นคนได้งาน ใครเป็นคู่เทียบ และบริษัทเหล่านั้นใครเป็นผู้ถือหุ้น มากไปกว่านั้นยังมีระบบที่จะปักธงและตั้งค่าแจ้งเตือนเพื่อให้ทราบถึงความผิดปกติในการจัดซื้อ พฤติกรรมการจัดซื้อ การเข้าข่ายฮั้วประมูล ล็อคสเปค และในอนาคตจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ข้อมูลด้านงบประมาณแผ่นดิน ข้อมูลด้านการเมืองและการเลือกตั้ง ข้อมูลด้านคดีทุจริตต่างๆ รวมถึงข้อตกลงคุณธรรม และบันทึกคดีโกงที่มีคำพิพากษาหรือเป็นที่สิ้นสุดแล้ว
นายพันเทพ สุภาไชยกิจ กรรมการบริหารองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) เป็นเครื่องมือที่ได้รับการพัฒนาระบบขึ้น รวบรวมข้อมูลจริงจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ทั้งหมด และเชื่อมโยงข้อมูลผู้รับจ้างเข้ากับฐานข้อมูลคลังกรมพัฒนาธุรกิจการค้าของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ง่ายดาย และเป็นมิตร โดยระบบจะช่วยวิเคราะห์ความผิดปกติหรือส่อทุจริตในรูปแบบต่างๆ และจะทำการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากัน รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนเมื่อพบการฮั้วประมูลด้วย
สำหรับ เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) มีจุดเด่นที่สำคัญ 10 ข้อ ได้แก่ 1. One Stop Big Data รวบรวมข้อมูลโครงการภาครัฐไว้มากที่สุด 2. Multi Keyword Search Engine ง่ายต่อการสืบค้น ค้นหาได้ตามความต้องการ รวดเร็ว ตรงประเด็น 3. Easy to Share สามารถแชร์ฐานข้อมูลได้ จัดเก็บได้สะดวกตามการใช้งานและการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ 4. Easy to Analyze But Powerful มีเครื่องมือช่วยวิเคราะห์ มี Ai ช่วยคิด 5. Artificial Intelligence to Help Detect มีระบบตรวจจับ แจ้งเตือน เมื่อพบพฤติการณ์ฮั้วประมูล
6. Easy to Track Government Budget เกาะติดทุกการใช้งบประมาณรัฐ มีงบนโยบายเรื่องใดระบบรวบรวมให้ทั้งหมด 7. Alert System to Inform รู้โครงการรัฐรอบตัวด้วยระบบแจ้งเตือน ระบบบอกได้ว่าภาครัฐใช้งบทำอะไรบ้างในพื้นที่ของผู้ใช้งาน 8. All in Single Page and Linked รวบรวมข้อมูลไว้หน้าเดียว เข้าใจง่ายด้วยสถิติ กราฟฟิก 9. User System Make It Easy ระบบ User ช่วยจัดการทุกอย่างให้ง่ายขึ้นด้วยการจัดการทุกข้อมูล ณ จุดเดียว 10. Secured System มีระบบความปลอดภัยสูง
"เครื่องมือสู้โกง (ACT Ai) จะเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้าใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และจากนั้นจะมีการพัฒนาต่อในเฟส 2 เพื่อให้เป็น Big Data Search Engine ฐานข้อมูลต้านโกงที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย" นายพันเทพ กล่าว