กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายงานภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) และ DPU X แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการภาคธุรกิจจัดตั้ง DP School เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เน้นการพัฒนาศักยภาพของกำลังคนในด้าน Soft Skills ในด้านต่างๆที่จำป็นต่อการอยู่รอดในศตวรรษที่ 21 และในช่วงเวลาที่เทคโนโลยี 5G กำลังจะเข้ามามีบทบาทเปลี่ยนโลกให้ล้ำไปอีก Soft Skills ดังกล่าวเป็นทักษะที่สร้างคนรุ่นใหม่ให้มีกระบวนความคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้ดี มีความกล้า สามารถใช้ภาวะผู้นำและผู้ตามได้อย่างเป็นประโยชน์ ซึ่งจะทำให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วในโลกดิจิทัล ทักษะเหล่านี้จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจและประเทศชาติอันสอดคล้องกับนโยบายชาติ ที่ต้องการบุคลากรซึ่งมีทักษะในด้าน Soft Skills โดยทักษะดังกล่าวเป็นทักษะที่หุ่นยนต์ไม่สามารถทดแทนได้ โดยจะผลักดันให้การทำงานของคนในโลกแห่งอนาคตประสบความสำเร็จ ตัวอย่างของทักษะดังกล่าว ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ทักษะการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ทักษะการสร้างแรงจูงใจ และทักษะการเจรจาต่อรอง ทักษะการคิดเชิงกลยุทธ์และการสร้างทีมงาน เป็นต้น
สำหรับการจัดตั้ง DP School นี้ CIBA และ DPU X ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไวท์แรบบิทแมเนจเม้นท์ จำกัด (White Rabbit Management ) โดยมี อาจารย์ วรภัทร์ ภู่เจริญ อดีตวิศวกรนาซ่าและที่ปรึกษาด้านการบริหารสมัยใหม่ให้กับองค์กรขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมเป็นประธานบอร์ดบริหาร DP School ร่วมด้วย ดร.พณชิต กิติปัญญางาม นายกสมาคม Thai Tech Startup โดยจะมีการจัดหลักสูตรแบบ Action Learning ที่มุ่งเน้นให้นักศึกษาฝึกทักษะที่จำเป็นเพื่อรองรับความต้องการของสถานประกอบการต่างๆ โดยรูปแบบการเรียนรู้จะเน้นการฝึกแบบ Project-based learning และ Solution-based learning โดยวิทยากรเป็นผู้ที่มีทักษะการเป็น CFM (Coach/ Facilitator/ Mentor) สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยภาคเอกชน อาทิ บริษัท เดอะบางกอก เรซิเดนซ์ 88 จำกัด, บริษัท เอ็นที มายด์ฟูลเนส เวทธ์ จำกัด, บางกอก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ ปาร์ค และ เอสซี กรุ๊ป ซึ่งจะรับนักศึกษาที่ผ่านหลักสูตรของ DPU School เข้าฝึกงานในองค์กรด้วย
ดร.พัทธนันท์ กล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันนอกเหนือจากทักษะด้านความรู้ความสามารถเชิงวิชาชีพ ที่เราเรียกกันว่า Hard Skills นั้นอาจไม่เพียงพอที่จะนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ยังให้ความสำคัญและมุ่งเน้นสร้างนักศึกษาให้มีทักษะที่เป็นที่ต้องการด้าน Soft Skills ไม่ใช่แค่เพื่อพัฒนาให้นักศึกษาเป็นบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเท่านั้น แต่มุ่งพัฒนาให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าทั้งต่อตลาดแรงงาน ต่อองค์กร และของสังคมโลกด้วย ในการจะสร้างทักษะดังกล่าวนี้จำเป็นต้องอาศัยพันธมิตรที่มีความมุ่งมั่นปรารถนาอย่างแรงกล้าเช่นเดียวกัน จึงทำให้เกิดความร่วมมือครั้งนี้ขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างเครือข่าย แต่ยังร่วมสร้างโครงการความร่วมมือในการเรียนการสอนแบบบูรณาการไปกับการทำงาน การพัฒนาคุณภาพนักศึกษาเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน รวมไปถึงความร่วมมือแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ทั้งทางด้านธุรกิจและวิชาการ ระหว่างองค์กรธุรกิจและภาคการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ต้องการสร้างทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการขององค์กรทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ ประธานกรรมการบริหาร ผู้ก่อตั้งบรษัท ไวท์แรบบิทแมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ในโลกดิจิตัล จำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ในขณะนี้มีการแย่งชิงพนักงานระหว่างมหาวิทยาลัยกับเอกชน เนื่องจากภาคเอกชนหลายแห่ง ได้ปรับเปลี่ยนจากที่แต่เดิมเป็นผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียวมาเป็นผลิตนักศึษาหรือบุคคลากรป้อนองค์กรตนเอง ด้วยการฝึกทักษะและให้มีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ในต่างประเทศจะเน้นจะเน้นเรื่องทักษะและจิตวิญญาณ เป็นประเด็นสำคัญ หรือใช้ระบบโดโจ คือการฝึกอย่างเข้มข้น ให้ได้ทักษะรู้จริงในสิ่งนั้น ๆ ดังนั้นเราต้องปรับการเรียนการสอนใหม่เพราะปริญญา หรือวุฒิการศึกษา การทำวิทยานิพนธ์ จะไม่มีความสำคัญเท่ากับทักษะความเชี่ยวชาญอีกต่อไป
นางสาวนภสร ศิริภักดี ผู้อำนวยการแผนกทรัพยากรบุคคล Bangkok Marriott Marquis Queen's Park กล่าวถึงความร่วมมือกับ DP School เพื่อสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ว่า โครงการดังกล่าวเป็นการช่วยผลักดันนักศึกษาให้ไปสู่การเรียนรู้ที่พบกับประสบการณ์จริง และเป็นการสร้างศักยภาพเพื่อเป็นบุคคลากรของหน่วยงานเช่นที่โรงแรมที่เป็นองค์กรใหญ่มีห้องพักมากกว่า1,000 ห้อง และเป็นโรงแรมในระดับห้าดาว ดังนั้น บุคคลากรที่เข้ามาร่วมงานต้องมีความพร้อม ที่จะประสานงานและทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ นายตติย มีเมศกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเลนโซ่ แอโรสเปซ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินส่งออกหลายประเทศและมีลูกค้าไปทั่วโลก อาทิฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน อังกฤษ สิงคโปร์ เป็นต้นและเน้นการทำงานเป็นทีมโดยแต่ละโปรเจคจะใช้บุคลากรนับร้อยเพื่อผลิตชิ้นงานดังนั้นทุกคนจะมีความเชี่ยวชาญตั้งแต่ขั้นพื้นฐานและสามารถปรับใช้ในงานอย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญสามารถก้าวต่อไปถึงระดับ Hi end เชื่อว่าฐานการลงทุนในอุตสาหกรรมดังงกล่าวน่าจะย้ายมาที่ประเทศไทยมากขึ้นเนื่องขณะนี้ประเทศสหรัฐและจีนมีปัญหากัน ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับประโยชน์ เพราะมีความต้องการบุคลากรทางด้านนี้มากและสอดคล้องกับการเรียนการสอนที่เน้น Soft Skills คือ ทักษะต่าง ๆ อันจะเป็นส่วนสำคัญในอนาคตของแต่ละสาขาอาชีพที่อนาคตไม่ได้เน้นเพียงใบปริญญาแต่จะให้ความสำคัญทางด้านทักษะและความเชี่ยวชาญมากขึ้น โดยค่าตอบแทนที่ได้รับจะมากกว่าบริษัทอื่น 20 เปอร์เซ็นต์