กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สสวท.
นักวิทย์น้อยกับผลงานวิทยาศาสตร์จากเครื่องดนตรีไทยและของเล่นพื้นบ้าน พบได้ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำวิถีไทย ก้าวไกลสู่สากล" วันที่ 10-11 มี.ค.48 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
สสวท.ขอเชิญเยาวชน ครูและผู้สนใจ ชมนิทรรศการและผลงานโดดเด่นทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียและนักวิทยาศาสตร์โครงการ พสวท. กว่าสี่ร้อยผลงาน และร่วมกิจกรรมฟังบรรยาย ประชุมปฏิบัติการ ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำวิถีไทยก้าวไกลสู่สากล" ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.48 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
นายศศิวัฒน์ สุริยะแก่นทราย นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น เจ้าของผลงานฟิสิกส์เรื่อง "การศึกษาเสียงและระยะการวางตัวของขั้นแบ่งเสียง" ได้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเสียงพิณอีสานกับระยะการวางตัวของขั้นแบ่งเสียง รวมทั้งศึกษาคุณภาพของเสียงและระบบขั้นบันไดเสียงของพิณอีสาน โดยได้แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ทำการศึกษาลักษณะทางกายภาพบนคอพิณอีสาน โดยวัดระยะการวางตัวของแต่ละช่วงของขันแบ่งเสียง (Fret) ทุกช่วง แล้วนำมาหาความสัมพันธ์กับเสียงที่ได้ ตอนที่ 2 ทำการบันทึกเสียงที่ได้จากการดีดพิณที่ Fret ต่างๆ และตอนที่ 3 นำข้อมูลเสียงที่บันทึกไว้ไปผ่านการแปลงฟูริเยร์ (Fourier Transform) ซึ่งเป็นการแยกฟังก์ชั่นคลื่นที่รวมกันอยู่หลายๆ ความถี่และหลายแอมพลิจูดออกเป็นคลื่นรูปไซน์ที่มีความถี่และแอมพลิจูดต่างกัน โดยใช้โปรแกรมวิเคราะห์คลื่นเสียง Signal Analyze Toolkit ทำให้สามารถอ่านค่าความถี่ของแต่ละเสียงได้
จากผลการทดลองและการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ระยะห่างของขั้นแบ่งเสียงของพิณอีสานจะมีความสัมพันธ์กับเสียงที่ได้ในแต่ละ 1 รอบของระดับเสียงดนตรี คือ ช่วง Fret ของเสียงโด จะมีระยะห่างน้อยสุด, ช่อง Fret ของเสียเรา จะมีระยะห่างน้อยสุด, จากนั้นจะลดลงจนมานอยสุดในช่วงที่ช่วง Fret ของเสียงโด ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของระดับเสียงอีก 1 รอบที่สูงขึ้นไปอีก โดยช่วง Fret ของเสียงเดียวกัน ใน Fret ที่ลึกเข้าไปจะมีระยะลดลงเรื่อยๆ และพบว่า ขั้นเสียงพิณมีลักษณะที่แปลกออกไปจากทฤษฎีที่ว่าด้วยขั้นบันไดเสียงของดนตรีสากล
นางสาวสุภาณี สุกฤตานนท์ นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กรุงเทพมหานคร เจ้าของผลงาน "การศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดความถี่เสียงต่างๆ ของขลุ่ยไทย" โครงงานนี้ได้ทดลอง เพื่อหาความสัมพันธ์ของตำแหน่งรูปากนกแก้ว ความยาวขลุ่ย และตำแหน่งรูขลุ่ยที่เปิด โดยกำหนดอัตราเร็วลมในการเป่าคงที่ จากการศึกษาพบว่า ถ้าไม่มีการเปิดรูขลุ่ย ความถี่เสียงจะมีความสัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างรูปากนกแก้วถึงปลายขลุ่ย เมื่อระยะระหว่างรูปากนกแก้วถึงปลายขลุ่ยมีค่าน้อย ความถี่เสียงจะสูงกว่าระยะระหว่างรูปากนกแก้วถึงปลายขลุ่ยที่มีค่ามาก
ส่วนการเปิดรูขลุ่ยคล้ายกับการลดความยาวขลุ่ยลงมา ซึ่งเมื่อตำแหน่งของรูที่เปิดใกล้กับตำแหน่งของรูปากนกแก้ว ความถี่เสียงจะสูงกว่าการเปิดรูขลุ่ยที่ไกลจากรูปากนกแก้ว และเมื่อเปรียบเทียบระหว่างการเปิดรูขลุ่ย 1 รู กับการเปิดรูขลุ่ยมากกว่า 1 รู โดยตำแหน่งที่ใกล้รูปากนกแก้วที่สุดคือตำแหน่งเดียวกัน การเปิดรูขลุ่ยมากกว่า 1 รู จะได้ความถี่ที่สูงกว่าการเปิดรูขลุ่ยเพียงรูเดียว ดังนั้น ตำแหน่งของรูปากนกแก้ว ความยาวขลุ่ย รวมทั้งตำแหน่งและจำนวนของรูขลุ่ยที่เปิด มีความสัมพันธ์ต่อความถี่ของเสียงขลุ่ยด้วยกันทั้งสิ้น
นางสาวดาราวรรณ เพ็ชร์ช้าง นักเรียนทุนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าของผลงาน "การศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดเสียงของลูกข่างโหว่" จากการศึกษาลักษณะของลูกข้างโหว่ ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเล่นพื้นบ้านของเด็กๆ ทางภาคเหนือในสมัยก่อน ลักษณะของลูกจ่างจะเป็นทรงกระบอกปิดหัวปิดท้าย มีแกนยาวในแนวเดียวกับความสูงของกระบอก และผิวที่กระบอกด้านหนึ่งมีรูยาว เมื่อทำให้ลูกข่างหมุนจะเกิดเสียงดังขึ้น นักวิทย์รุ่นเยาว์คนนี้จึงมีความประสงค์ที่จะศึกษาปัจจัยต่างๆ เช่น รูปแบบขอรู ความยาวของรู ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระบอก ตำแหน่งของรู มีผลต่อความถี่และระดับแอมพลิจูดของเสียงได้อย่างไร โดยใช้โปรแกรม winscope ผลจากการศึกษา พบว่าขนาดของเส้นผ่าศูนย์กลางมีผลต่อความถี่เสียง ความยาวรูและตำแหน่งของรูมีผลต่อแอมพลิจูด สำหรับรูปแบบของรูจะมีผลต่อการเกิดเสียง
ผลงานที่กล่าวถึงในเบื้องต้น เป็นเพียงผลงานวิทยาศาสตร์หนึ่งในอีกกว่า 400 ผลงานที่นำมาจัดแสดง ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี "วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำวิถีไทยก้าวไกลสู่สากล" ระหว่างวันที่ 10-11 มี.ค.48 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมชมงานได้ฟรี โทร. 0-2392-4021 ต่อ 2308-2318--จบ--