ความสำเร็จของโครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐาน และโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย

ข่าวทั่วไป Monday January 28, 2008 11:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--สมาคมเครื่องจักรกลไทย
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และ สถาบันไทย-เยอรมัน ประสบความสำเร็จในการต่อยอดเครื่องต้นแบบไปสู่เชิงพาณิชย์ อาทิ เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ เครื่องตัดวัสดุด้วยน้ำแรงดันสูง เครื่องจักรกลระบบ CNC 5 แกน เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ เชื่อมั่นจะทดแทนการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ที่มีมูลค่าสูงกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี พร้อมโชว์ผลงานความสำเร็จในงาน “ความสำเร็จของโครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐาน และโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย”
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมาคมเครื่องจักรกลไทย และสถาบันไทย-เยอรมัน สนับสนุนและดำเนินการคิดค้นปรับปรุงเครื่องจักรกล เพื่อให้เกิดการผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์โดยมุ่งเน้น 4 กลุ่มหลัก คือ เครื่องจักรกลพื้นฐาน เครื่องจักรกลการเกษตร เครื่องจักรกลแปรรูป และเครื่องจักรกลเพื่อบรรจุภัณฑ์ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs
นวัตกรรมและเทคโนโลยีนับเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ก่อให้เกิดความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และเพิ่มผลิตภาพที่จะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ของการแข่งขันในตลาดโลก เพราะจะช่วยสร้างความแตกต่างที่โดดเด่นด้วยสินค้าและบริการที่แปลกใหม่ ทันสมัย ตรงความต้องการของลูกค้า ซึ่งภารกิจดังกล่าวนับเป็นภารกิจหนึ่งที่สำคัญของสสว. ในการให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs
ในปี 2550 ที่ผ่านมาสสว.ได้ให้การสนับสนุนการพัฒนาองค์ความรู้และปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการภาคการผลิตโดยการสนับสนุนการพัฒนา และสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาลภายใต้โครงการเสริมสร้างพื้นฐานทางปัญญาแก่เอสเอ็มอี ซึ่งประกอบไปด้วย 2 โครงการที่สำคัญ ได้แก่โครงการสร้างเทคโนโลยีเครื่องจักรพื้นฐานเพื่อการนำร่องการผลิตเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสูญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) ในเชิงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และสมาคมเครื่องจักรกลไทย
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาต่อยอดเครื่องต้นแบบเครื่องทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศที่เป็นองค์ความรู้ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วว.) ให้นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยอาศัยผู้ผลิตที่ชำนาญการผ่านทางสมาคมเครื่องจักรกลไทยเป็นผู้ดำเนินการผลิตภายใต้เทคโนโลยีต้นแบบดังกล่าว ซึ่งผลผลิตเครื่องจักรที่ได้จากโครงการจะได้นำไปเผยแพร่ให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสทดลองใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลผลิตของตน ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนอุตสาหกรรมยาและสมุนไพรต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการศึกษาตลาดทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อนำไปสู่การสร้างเครื่องจักรประเภทอื่นๆให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น สสว. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเครื่องจักรต่างๆ ที่จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราจากการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องมีการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องมือกลสูงถึงกว่า 60,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อทดแทนปริมาณเครื่องจักรกลเก่าที่นับวันจะเสื่อมประสิทธิภาพ และล้าสมัยลง ปัจจุบันเครื่องจักรเก่าๆ เหล่านี้มีปริมาณมากกว่า 80,000 เครื่อง ดังนั้นภาครัฐจึงได้ช่วยกันที่จะหาวิธี ที่จะช่วยลดการนำเข้าเครื่องจักรเกิดการพึ่งพาตนเอง และในขณะเดียวกันก็ต้องการเพิ่มศักยภาพในการผลิตและปรับปรุงเครื่องจักรเก่าให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว. จึงได้ร่วมมือกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในการให้การสนับสนุนเทคโนโลยีการทำวิศวกรรมย้อนรอย (Reverse Engineering) แก่ภาคเอกชนผ่านสมาคมเครื่องจักรกลไทยและสถาบันไทย-เยอรมัน เกิดเป็นความสำเร็จของโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย
ทั้งนี้ผลงานความสำเร็จของทั้ง 2 โครงการดังกล่าวได้นำมาจัดแสดงร่วมกันภายในงาน “ความสำเร็จของโครงการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ในด้านการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย” เพื่อสาธิตประสิทธิภาพการทำงาน จำนวน 17 เครื่อง อาทิ
- เครื่องทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศ (Vacuum Freeze Dryer) หลักการทำงานของเครื่องดังกล่าวอาศัยการทำให้น้ำแข็งในโครงสร้างของวัตถุดิบที่ผ่านการแช่แข็งนั้นเกิดการระเหิดออกไปภายใต้สภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะเป็นผลให้โครงสร้างของเนื้อวัตถุดิบนั้นแห้ง สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยมีสี กลิ่น รสชาติและโครงสร้างของเนื้อวัตถุดิบมีสภาพใกล้เคียงกับสภาวะแรกเริ่มหรือในสภาวะของสดมากที่สุด ตัววัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการทำแห้งเยือกแข็งสุญญากาศนั้นยังสามารถกลับสู่สภาพใกล้เคียงสภาพเดิมได้เมื่อสัมผัสกับน้ำอีกครั้ง ซึ่งเครื่องดังกล่าวจะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาพืชผักผลไม้ให้ได้ยาวนานขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยาและสมุนไพร
- เครื่องต้นแบบเครื่องตัดวัสดุ ด้วยน้ำแรงดันสูง หรือ Water Jet Cutting Machine เป็นเครื่องที่ใช้น้ำแรงดันสูงในการตัดวัสดุไม่ว่า จะเป็นวัสดุโลหะหรือ อโลหะ สามารถช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการทำงานและยังสามารถควบคุมการทำงานของเครื่องจักรด้วยชุดคำสั่งภาษาไทยได้ด้วย
- เครื่องจักรกลระบบ CNC 5 แกน เป็นเครื่องมือพิเศษ เหมาะสำหรับงานออกแบบมาเพื่อผลิตชิ้นงานประเภท Cutting Tool อาทิ ดอกเอ็นมิล, สกูรเครื่องฉีดพลาสติก, Step Drill ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงาน CNC
- เครื่องจักรกล CNC ที่ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฟื้นฟูและซ่อมแซม หรือที่เรียกว่า Retrofit เป็นโครงการศึกษาวิจัยแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย เพื่อฟื้นฟูสภาพเครื่องจักรซีเอ็นซีเก่าให้สามารถกลับมาใช้งานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีของผู้ประกอบการ SMEs และยังเป็นการลดการนำเข้าเครื่องจักรชิ้นส่วนอะไหล่จากต่างประเทศอีกด้วย
- เครื่องพิมพ์สำหรับบรรจุภัณฑ์ เป็นเครื่องพิมพ์แบบ Modular Unit สามารถถอดประกอบและเชื่อมต่อกันได้ตามความต้องการของลูกค้า ระบบกลไกและไฟฟ้า รวมทั้งระบบควบคุมออกแบบให้สัมพันธ์กันทั้งหมด และสามารถปรับสีการพิมพ์ได้มากถึง 6 สี
งานนี้จัดขึ้นที่ศูนย์การแสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ภายในงานยังจัดให้มีกิจกรรมเสวนาบนเวทีในหัวข้อ “ก้าวสู่ความสำเร็จของอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลไทย” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกันพัฒนาจนสามารถผลักดันให้โครงการฯ ประสบความสำเร็จ และพร้อมก้าวสู่การพัฒนาในระดับสากลร่วมเสวนา
โอกาสนี้ยังได้รับเกียรติจาก คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมแสดงความยินดีกับความสำเร็จและยังเป็นบุคคลผู้ผลักดันโครงการสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จของโครงการฯ พร้อมร่วมชมและทดลองใช้เครื่องจักรที่จัดแสดง โดยได้ให้สัมภาษณ์ถึงความสำเร็จของโครงการฯ ดังกล่าวว่า...
“นับเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจที่คนไทยสามารถพัฒนาขีดความรู้ ความสามารถ ในการผลิตเครื่องจักรขึ้นเอง ได้ ซึ่งในอนาคตเราอาจไม่ต้องนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศแล้ว หากยังมีการพัฒนาศักยภาพของเครื่องจักรกลอย่างต่อเนื่องให้ประสิทธิภาพทัดเทียมกับต่างชาติ ซึ่งนั้นก็หมายความว่านอกจากรัฐบาลเองจะสามารถลดการสูญเสียเม็ดเงิน ที่จะต้องนำเข้าเครื่องจักกลจากต่างประเทศแล้ว ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะเครื่องจักรกลถือเป็นปัจจัยสำคัญ ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมทุกประเภท และมีผลต่อเนื่องไปถึงการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและภาคเกษตรด้วยนั่นเอง”
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
คุณสุวรรณี (แอ๊ท) 08-6323-6599 / คุณทิพวรรณ (กุ้ง) 08-1755-6548 หรือ คุณปานรัตน์ ปานดวง (สมาคมเครื่องจักรกลไทย)
โทร. 0-2712-2096

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ