กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า การรวมกิจการระหว่าง ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TBANK (AA-(tha)/แนวโน้มอันดับมีเสถียรภาพ) และ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB (BBB-/bbb-/AA-(tha)/แนวโน้มอันดับมีเสถียรภาพ) อาจส่งผลกระทบในเชิงบวกต่ออันดับเครดิต หากฟิทช์ประเมินว่าด้วยขนาดที่ใหญ่ขึ้นหลังการรวมกิจการ จะช่วยส่งเสริมให้ธนาคารมีเครือข่ายธุรกิจในประเทศและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในเชิงลบต่ออันดับเครดิตน่าจะเกิดขึ้นจากความซับซ้อนและอุปสรรคในการรวมการดำเนินงานและการผสานวัฒนธรรมองค์กรของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน (integration)
ธนาคารขนาดกลางของประเทศไทย 2 แห่งดังกล่าว ได้ประกาศการลงนามในบันทึกข้อตกลงแบบไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายในการรวมกิจการของทั้ง 2 ธนาคารเข้าด้วยกัน (merger) เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562 อย่างไรก็ตามธุรกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นและการเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดที่เกี่ยวข้องยังมีไม่มากนัก ฟิทช์คาดว่าจะพิจารณาผลกระทบต่ออันดับเครดิต (rating action) เมื่อกระบวนการรวมกิจการเกิดขึ้นจริง และเมื่อแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างเครดิต (credit profile) ของทั้ง 2 ธนาคารมีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ตามรายละเอียดของบันทึกข้อตกลงดังกล่าว TBANK จะเป็นผู้โอนสินทรัพย์และหนี้สินทั้งหมดให้กับ TMB ซึ่งจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 1.3 – 1.4 แสนล้านบาท โดยประมาณ 70% ของมูลค่ารายการดังกล่าว TMB จะชำระโดยการออกหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง TBANK และ TMB
TBANK เป็นธนาคารที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นอันดับที่ 6 และยังเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย TMB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 7 และมีจุดเด่นในการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (transactional banking) ทั้งนี้ธนาคารที่เกิดขึ้นหลังจากการรวมกิจการ (combined bank) จะมีส่วนแบ่งการตลาดรวมที่ประมาณ 10%-11% ในด้านสินทรัพย์และด้านเงินฝาก ซึ่งจะขยับขึ้นมาใกล้เคียงกับธนาคารพาณิชย์ไทยที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (A-/bbb/AAA(tha)/ แนวโน้มอันดับมีเสถียรภาพ) นอกจากนี้การรวมกิจการน่าจะส่งผลให้พอร์ตสินเชื่อของธนาคารมีการกระจายตัวที่ดีขึ้น เนื่องจากธนาคารทั้ง 2 แห่งมีจุดแข็งในกลุ่มตลาดที่แตกต่างกัน
หนึ่งในปัจจัยที่มีส่วนในการสนับสนุนให้เกิดการเจรจารวมกิจการในครั้งนี้คือมาตรการจูงใจด้านภาษีของกระทรวงการคลังที่ประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีขนาดใหญ่ขึ้น (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ประกาศเรื่อง "ฟิทช์: มาตรการสนับสนุนให้ธนาคารไทยควบรวมกิจการ อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาวะอุตสาหกรรมธนาคาร" (หรือ Fitch: Thai Bank Merger Incentives May Shift Sector Landscape) ลงวันที่ 20 เมษายน 2561 ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีสัดส่วนการถือหุ้นใน TMB ที่ 26% และคาดว่าจะรักษาสัดส่วนการถือหุ้นไว้ในระดับที่มีนัยสำคัญในธนาคารที่เกิดขึ้นหลังจากการรวมกิจการ
หากการรวมกิจการดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริงก็ไม่น่าเสร็จสิ้นกระบวนการได้จนกว่าจะถึงช่วงปลายปี 2562 เนื่องจากรายละเอียดของการรวมกิจการยังคงต้องมีการเจรจาตกลงกันเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างของผู้ถือหุ้นของธนาคารภายหลังการรวมกิจการ อีกทั้งยังคงมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา ทั้งในด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลของการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) และการได้รับมติอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง (regulators) และจากผู้ถือหุ้น ดังนั้นแผนการรวมกิจการดังกล่าวจึงยังคงมีความไม่แน่นอนที่จะสำเร็จตามที่คาดไว้