กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children's Fund - UNICEF) ประจำประเทศไทย ได้จัดงานแถลงความร่วมมือด้านการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูก: ประสบการณ์ไทยสู่โลก (Announcement of South-South Cooperation on Elimination of Mother-to-Child Transmission (EMTCT) of HIV and Syphilis: Sharing Thailand's EMTCT Best Practice with the World)
เมื่อปี ๒๕๕๙ ไทยเป็นประเทศที่สองของโลกรองจากคิวบา และประเทศแรกในเอเชียที่ได้รับเกียรติบัตรจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รับรองว่า สามารถบรรลุเป้าหมายการยุติการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีและซิฟิลิสจากแม่สู่ลูกในอัตราต่ำกว่าร้อยละ ๒ และสามารถรักษาคุณภาพการดำเนินงาน จนได้รับการประกาศรับรองต่อเนื่องเมื่อปี ๒๕๖๑
กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข และ UNICEF จึงเห็นความสำคัญในการต่อยอด จากความร่วมมือที่ผ่านมา ในลักษณะความร่วมมือใต้-ใต้ (ความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนา) และไตรภาคี โดยการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับประเทศคู่ร่วมมือต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็ง ในความพยายามของนานาชาติด้าน EMTCT โดยสนับสนุนให้เข้าถึงความรู้ของไทยและร่วมแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีอย่างเป็นระบบ ยั่งยืน และเกิดผลในวงกว้างยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมศักยภาพหน่วยงานไทยให้เป็นแหล่งข้อมูลความรู้ระดับโลกในด้าน EMTCT และสนับสนุนบทบาทไทยในกรอบความร่วมมือใต้-ใต้ ซึ่งเป็น ส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง กิจกรรมภายใต้ความร่วมมือดังกล่าวอาจรวมถึงการจัดการศึกษาดูงานนานาชาติ การฝึกอบรม และการให้คำปรึกษาแก่ประเทศต่าง ๆ ทั้งในและนอกภูมิภาคที่มีความพร้อมและพัฒนาการด้าน EMTCT ที่แตกต่างกัน การสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือและแบ่งปันองค์ความรู้ในระดับระหว่างประเทศ และการระบุและสร้างเครือข่ายหน่วยงานไทยซึ่งมีความเชี่ยวชาญและศักยภาพในการมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา
นายอรรถยุทธ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต้อนรับ และกล่าวถึง ความร่วมมือกับ UNICEF ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งไทยได้ร่วมส่งเสริมประเด็นเกี่ยวกับเด็กในเวทีระหว่างประเทศ เช่น การพัฒนาเด็กปฐมวัย และปัญหาเด็กผู้อพยพ และกระทรวงการต่างประเทศยังให้ความสำคัญกับความร่วมมือใต้-ใต้และไตรภาคีเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยื่น โดยสาธารณสุขเป็นหนึ่งในสาขาหลักที่ไทยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สามารถแบ่งปันกับประเทศต่าง ๆ ได้ โดยมีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานดำเนินงานผ่านโครงการเพื่อการพัฒนา ให้ทุนศึกษา ทุนฝึกอบรม และจัดส่งผู้เชี่ยวชาญ
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ความสำเร็จของไทยเกิดขึ้นจาก การบูรณาการความพยายามที่ต่อเนื่องของภาคีจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย องค์กร ภาคประชาสังคม องค์กรต่างประเทศ และหน่วยงาน UN และสำหรับความร่วมมือครั้งนี้ ทุกฝ่ายยินดีและให้คำมั่นในการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยเหลือประเทศอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นก้าวต่อไปของไทย ในการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก และได้ให้ข้อมูลว่า อัตราการถ่ายทอดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกในไทยลดลงจากร้อยละ ๑๐.๓ ในปี ๒๕๔๖ เหลือเพียงร้อยละ ๑.๖๘ ในปี ๒๕๖๐ และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะดำเนินการให้อัตราลดลงต่ำกว่าร้อยละ ๑ ในปี ๒๕๖๓
Ms. Beena Kuttiparambil ผู้แทน UNICEF ประเทศไทย เน้นย้ำว่า ความร่วมมือใต้-ใต้เป็นเครื่องมือที่สามารถมีบทบาทอย่างมากในการส่งเสริมสิทธิเด็กและเยาวชน และ EMTCT เป็นก้าวสำคัญที่จะนำไปสู่การกำจัดโรคเอดส์ โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีกับต่างประเทศ ในด้าน EMTCT และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาระบบสุขภาพ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพสำหรับแม่และเด็ก โดยที่ผ่านมา UNICEF ได้ร่วมสนับสนุนประเทศต่าง ๆ มาศึกษาดูงานที่ประเทศไทยแล้ว เช่น จีน อินเดีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน
นอกจากนี้ นางศศิธร ว่องวีรโชติกิจ รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ "EMTCT of HIV and Syphilis in Thailand: yesterday's effort, today's success, and future prospect" ถึงการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาของไทย ทั้งในกรอบ South-South และ North-South-South และพร้อมจะมีความร่วมมือกับประเทศและหุ้นส่วนใหม่ ๆ ในอนาคตต่อไป