กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--ยูนิเซฟ
สหภาพยุโรป องค์การยูนิเซฟ และรัฐบาลไทย ได้ประกาศความเป็นพันธมิตรเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย โดยสหภาพยุโรปได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 2.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 82 ล้านบาทให้แก่ยูนิเซฟ ประเทศไทยในการดำเนินงานเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งต่อนโยบายและการปฏิบัติการสำหรับเด็กข้ามชาติหรือเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย และเด็กไร้สัญชาติในประเทศไทย
การประกาศความเป็นพันธมิตรครั้งนี้มีผู้แทนเกือบ 100 คนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สหภาพยุโรป และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม อีกทั้งมีการอภิปรายเกี่ยวกับข้อท้าทายในปัจจุบันที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิของเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทย และร่วมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายและนโยบายที่เปิดโอกาสให้เด็กทุกคนรวมถึงเด็กข้ามชาติหรือเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยได้เข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น ไม่ว่าเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการคุ้มครองเด็ก แต่ในทางปฏิบัติ เด็กกลุ่มนี้จำนวนมากยังคงเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพเหล่านั้นเนื่องจากหลากหลายสาเหตุ เช่น การถูกเลือกปฏิบัติ ความยากจน การย้ายถิ่นที่อยู่บ่อยครั้ง บริการที่ไม่ครอบคลุม ตลอดจนการขาดความรู้และความตระหนักในการเข้าถึงบริการเหล่านั้น
ฯพณฯ เปียร์ก้า ตาปิโอลา เอกอัครราชทูต สหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวว่า "เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีสถานะเป็นเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานหรือไม่ จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ได้เข้าถึงการศึกษา การดูแลสุขภาพและสุขอนามัย บริการทางสังคมและกฎหมาย ตลอดจนการเยียวยาทางจิตใจ และนี่คือสิ่งที่สหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะดำเนินการ โดยร่วมมือกับพันธมิตรอย่างเช่นยูนิเซฟและรัฐบาลไทย เราจะร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งของระบบการคุ้มครองเด็กของประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเด็กคนใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้ประมาณการว่า ในพ.ศ. 2561 มีเด็กผู้อพยพโยกย้ายถิ่นฐานอาศัยอยู่ในประเทศไทยราว 300,000 – 400,000 คน โดยเด็ก ๆ จำนวนมากยังไม่ได้ลงทะเบียนกับรัฐ นอกจากนี้ ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยชี้ว่า มีเด็กไร้สัญชาติราว 145,000 คนที่ได้ลงทะเบียนกับรัฐแล้ว
นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า "ประเทศไทยมีนโยบายที่ก้าวหน้ามาก ซึ่งให้เด็กทุกคนสามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเด็กสัญชาติไทย เด็กโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ได้ลงทะเบียน หรือเด็กไร้สัญชาติ ภารกิจหลักของเราตอนนี้ก็คือการลดช่องว่างระหว่างนโยบายที่มีอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐาน การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปในครั้งนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการดำเนินการดังกล่าวให้มีประสิทธิผลมากขึ้น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเด็กจะได้รับการปกป้องคุ้มครองสิทธิ และสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ได้อย่างเป็นระบบตามสิทธิอันพึงมีของพวกเขา"
การร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและยูนิเซฟ จะส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งของระบบคุ้มครองเด็กในระดับชาติ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ เช่น การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้สามารถระบุ ส่งต่อ และให้การช่วยเหลือเด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานที่อยู่ในภาวะเปราะบาง เพื่อให้พวกเขาเข้าถึงการช่วยเหลือทางสังคมและทางกฎหมาย การให้คำปรึกษา ตลอดจนการจดทะเบียนเกิดได้
ความร่วมมือนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อยุติการกักตัวเด็กด้วยสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับการอพยพย้ายถิ่นฐาน พร้อมเสริมสร้างความเข้มแข็งในมาตราการทางเลือกอื่น ๆ ในการดูแลเด็กแทนการกักตัวในสถานกักคนต่างด้าวเข้าเมือง เช่น ระบบพ่อแม่อุปถัมภ์ และการอุปการะดูแลแบบเครือญาติแก่เด็กผู้โยกย้านถิ่นฐานโดยลำพังหรือไม่ได้อยู่กับพ่อแม่
นอกจากนี้ ยังมุ่งให้เด็กผู้โยกย้ายถิ่นฐานและเด็กไร้สัญชาติได้เข้าถึงบริการด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยจะร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการเพื่อระบุถึงข้อท้าทายที่ทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้เข้าเรียน ไม่ว่าจะเป็นข้อท้าทายในการเดินทางมาโรงเรียน และข้อจำกัดทางภาษา พร้อมรณรงค์ให้เกิดการทำต้นแบบที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการศึกษาและโรงเรียนได้รวมและตอบสนองต่อความจำเป็นของเด็ก ๆ เหล่านี้ ในขณะเดียวกัน ยูนิเซฟกำลังพัฒนารูปแบบการประกันสุขภาพทางเลือกที่มีราคาเหมาะสม เพื่อประกันว่าจะไม่มีเด็กโยกย้ายถิ่นฐานและครอบครัวใด ต้องตกหล่นจากการรักษาพยาบาลที่จำเป็น อีกทั้ง จะมีการเก็บข้อมูลและหลักฐานเพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายถิ่นและผลกระทบที่เกิดขึ้น และพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อตรวจสอบบริการต่าง ๆ ที่จัดสรรให้สำหรับเด็กกลุ่มนี้
###
เกี่ยวกับความร่วมมือ
สหภาพยุโรปได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 10.5 ล้านยูโร (ประมาณ 379 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนองค์การยูนิเซฟในการดำเนินงานปกป้องคุ้มครองสิทธิของเด็ก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และเอเชียกลางจำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ คาซัคสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน ไทย บังกลาเทศ มาเลเซีย เมียนมาร์ และอุซเบกิสถาน เงินทุนนี้ครอบคลุมระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี โดยมุ่งหวังให้การดำเนินการนี้เข้าถึงเด็ก ๆ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐาน หรือถูกบังคับให้พลัดถิ่นไม่ว่าภายในประเทศ หรือข้ามพรมแดน