กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--บัตรกรุงไทย
เคทีซีร่วมกับ 5 บิ๊กพันธมิตรธุรกิจอีคอมเมิร์ซและช้อปปิ้งออนไลน์ "ลาซาด้า" "ทีวี ไดเร็ค" "ซิลิงโก้" "ลอรีอัล" และ "พอลพ่า บาย ดามาคัน" เผยมุมมองในการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ท่ามกลางกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ชี้บริการออนไลน์ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นทางเลือกให้ชีวิตผู้บริโภคมีแต่ได้กับได้ สะดวกสบาย ได้ของเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย สินค้ารับประกันความพอใจ และยังมีบริการเสริมอื่นๆ ที่ทำให้ได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย ทั้งบริการทางการเงิน บริการขนส่งถึงที่หมายและอีกมากมาย
นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร – ธุรกิจบัตรเครดิต "เคทีซี" หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ภาพรวมการทำธุรกิจออนไลน์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด ช่วยสร้างรายได้ทางอาชีพและขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแรงส่งจากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่ทำให้โลกเล็กลง ข้อมูล การสื่อสารและโอกาสที่ดีเกิดการแลกเปลี่ยนแบบไร้ขีดจำกัด ในส่วนของเคทีซีเองการเปิดช่องทางธุรกิจสู่ช่องทางออนไลน์ถือว่าไปได้ดี มียอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตสูงต่อเนื่องมาตลอด เปรียบเทียบปี 2561 กับปี 2560 เติบโตประมาณ 30% โดย 5 หมวดสินค้าที่มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์สูงสุด ได้แก่ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า / เครื่องสำอาง / เสื้อผ้าแฟชั่น / สินค้าตกแต่งภายในบ้าน / สินค้าแม่และเด็ก นอกจากนี้ยังมีสมาชิกบัตรเครดิตรายใหม่ๆ เข้ามาใช้จ่ายออนไลน์ในปี 2560เพิ่มขึ้น 13% จากปี 2560 อีกด้วย"
"จากพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่สมาชิกหันมาสนใจและคุ้นเคยกับการค้นหาข้อมูลและทำรายการใช้จ่ายต่างๆ ผ่านออนไลน์ด้วยตนเองมากขึ้น เคทีซีจึงสรรหาสิทธิประโยชน์ด้านออนไลน์มาตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการใช้บัตร ณ เคาน์เตอร์ร้านค้าปกติ เพื่อให้สมาชิกหรือผู้ที่กำลังจะมาเป็นสมาชิกเคทีซีได้รับรู้และนึกถึงเคทีซีเป็นอันดับต้นๆ โดยปักหมุดให้เคทีซีเป็นแหล่งรวมโค้ดส่วนลดจากพันธมิตรออนไลน์ที่มากที่สุด เฉลี่ยมากกว่า 80 พันธมิตรออนไลน์ต่อเดือน และสร้างแลนดิ้งเพจ (Landing Page) โดยเฉพาะที่ www.ktc.co.th/shoponline เพื่อให้สมาชิกเข้าถึงข้อมูลและสิทธิประโยชน์ได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว"
นางสาวธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า "ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เก็ตเพลสรายใหม่จากต่างประเทศหลายรายเข้ามาดำเนินธุรกิจอย่างเป็นทางการ และมีสินค้ากลุ่มข้ามพรมแดน (Cross Border) เข้ามาในไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันสถานการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจอีคอมเมิร์ซปีนี้ดุเดือดมากขึ้นด้วยเช่นกัน แต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศนั้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยแม้ว่าจะเกิดขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ตลาดยังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างจีน เกาหลีใต้และสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 10, 9 และ 8 ของมูลค่าค้าปลีกสินค้าทั้งหมดตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยพบว่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น โอกาสในการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ในไทยยังมีช่องว่างอีกมากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ที่สนใจ"
"สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย ลาซาด้ามีการใช้งบประมาณจำนวนมากและต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเน้นที่ ออฟไลน์มากขึ้น รวมถึงกลยุทธ์ O2O เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการผลักดันผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ให้มาทดลองใช้งาน เพราะการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้ยังคงดุเดือด แต่ละแพลทฟอร์มมีการดำเนินกลยุทธ์แตกต่างกัน ทำให้เราพยายามพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้าอย่าง ตรงใจ โดยเฉพาะการเป็นแพลทฟอร์มที่ "เสิร์ชอะไรก็เจอ" ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการให้บริการ ทำให้ยอดการส่งคืนสินค้าของลาซาด้าคงที่อยู่ราว 5% ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และเพราะเราให้บริการโดยเน้นสร้าง Ecosystem ให้ความสำคัญกับทุกเรื่องตั้งแต่สินค้า ช่องทางชำระเงิน ธนาคารและระบบขนส่งสินค้า เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ลาซาด้าแตกต่างจากรายอื่น รวมถึงการพัฒนาวอลเล็ทแบบ Closed Loop ในชื่อ "LAZADA Wallet" เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในการชำระหรือขอเงินคืน ซึ่งระบบของเราสามารถทำได้รวดเร็วแตกต่างกว่าการชำระผ่านช่องทางอื่น"
นางสาวนริสสา ลิมปนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ซิลิงโก้ ประเทศไทย จำกัด "แพลทฟอร์มแฟชั่นออนไลน์" กล่าวว่า "ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเติบโตในตลาดออนไลน์ค่อนข้างสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในภูมิภาคนี้มักใช้การแข่งขันด้านราคามาเป็นกลยุทธ์ในการทำตลาดเป็นส่วนใหญ่ ในขณะที่กลุ่มประเทศในโซนยุโรป อเมริกาจะมีความคุ้นชินกับอีคอมเมิร์ซมากกว่า และมีความคุ้นชินกับการใช้บัตรเครดิต เรื่องของการแข่งขันด้านราคาจึงไม่รุนแรงนัก แต่ในยุคที่ดิจิทัล ดิสรัปชั่น เราต้องปรับตัวหลายอย่างให้ทันกับตลาด 1) ต้องรู้ว่าปัญหาของลูกค้าค้าคืออะไร และหากลวิธีต่างๆ ตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ในอย่างที่ตลาดทั่วไปทำไม่ได้ เช่น การให้ซื้อของก่อนจ่ายทีหลัง การชำระเงินปลายทาง เป็นต้น 2) การขยายสินค้าและการกำหนดราคาให้เหมาะสม (Scalable & Optimize cost) ถ้าเป็นธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ ต้องดูว่าตอบโจทย์คนในพื้นที่ได้แค่ไหน สอดคล้องกับวัฒนธรรมหรือไม่ เพราะไม่มีอะไรที่จะเหมาะกับทุกคน (One Size Fit All) ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม 3) การเก็บข้อมูลและวิเคราะห์พฤติกรรมของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคมีผลกับดิสรัปชั่นในทุกธุรกิจ ลูกค้าคลิกอะไร ซื้อสินค้าอะไรมากที่สุด ใช้เวลากับผลิตภัณฑ์ใดมากที่สุด ทำให้สามารถโฟกัสได้ตรงจุดมากกว่า พฤติกรรมผู้บริโภคจึงเสมือนตัวกำหนดกลยุทธ์ของบริษัทในประเทศนั้นๆ"
"เทรนด์การทำธุรกิจออนไลน์ในไทยจากนี้น่าจะแข่งขันกันสูง และมีรายใหม่ๆ ผันตัวเองมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมถึงเป็น Omnichannel เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ลูกค้าให้มากที่สุด นอกจากนี้ แนวโน้มการทำตลาดออนไลน์ที่กำลังมาแรงที่สุดในตอนนี้คือ การตัดคนกลางระหว่างพ่อค้าแม่ค้าที่ทำธุรกิจกับโรงงานต่างๆ ในต่างประเทศ ซิลิงโก้จึงพยายามเข้าไปช่วยให้ผู้ทำธุรกิจเชื่อมตรงกับโรงงานหรือซัพพลายเออร์ได้โดยไม่ต้องผ่านคนกลาง ทำให้ร้านค้าซื้อสินค้าได้ถูกลง ปลอดภัยกว่าและยังได้รับมูลค่าเพิ่มจากบริการที่ซิลิงโก้มี เราจะเป็นซัพพลายเออร์ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ตั้งแต่ซื้อของ ส่งของให้ และยังเปิดให้ขายสินค้าได้ที่แพลทฟอร์มของ B2C ได้อีกด้วย สำหรับโปรโมชันของ ซิลิงโก้จะเน้นให้ลูกค้าได้สินค้าในราคาที่ถูกมากเหมือนได้ฟรี และคูปองโค้ดส่วนลดพิเศษกับลูกค้าเมื่อใช้บัตรเครดิตต่างๆ และที่โดดเด่นและลูกค้าส่วนใหญ่ชอบคือ ของขวัญต่างๆ ที่แจกในโซเชียล มีเดีย การสร้างแรงบันดาลใจกับผู้บริโภค เช่น เทรนด์การแต่งตัวแบบไหนดี สินค้าไหนกำลังอินเทรนด์ และการให้เงินคืน (Cashback) ในซิลิงโก้ วอลเล็ท"
นางจุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์ หัวหน้าสายงานดิจิทัล แผนกเครื่องสำอางชั้นสูง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า "การทำธุรกิจออนไลน์และตลาดอีมาร์เก็ตเพลสในไทยและต่างประเทศมีความคล้ายและแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการพัฒนาและการครองตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วมากๆ อย่างอเมริกาที่มี Amazon เป็นผู้เล่นหลักในตลาด ทุกคนจะนึกถึงเป็นรีเทลแหล่งแรกๆ ในการซื้อของออนไลน์ ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีผู้เล่นหลากหลายที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดเพื่อครองใจผู้บริโภคในการซื้อสินค้าออนไลน์ แต่ส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมของลูกค้าในประทศพัฒนาแล้ว ลูกค้าส่วนมากจะคำนึงถึงความสะดวกสบายจากการซื้อออนไลน์เป็นสำคัญ ในขณะที่ประเทศอย่างบ้านเราผู้บริโภคจะพิจารณาความคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย หรือส่วนลดต่างๆ เป็นสำคัญ สำหรับเทรนด์ของธุรกิจออนไลน์จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกันทั่วโลก คือ อีมาร์เก็ตเพลสจะเป็นตลาดที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่ผู้ประกอบการในตลาดจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาในแพลทฟอร์ม เพื่อช่วยให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วขึ้น เช่น การซื้อรองพื้น เสื้อผ้า หรือสินค้าประเภทอื่นๆ ที่ผู้บริโภคต้องการดูว่าเหมาะกับตัวเองหรือไม่"
"สิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจออนไลน์ในยุคที่ดิจิทัล ดิสรัปชั่น คือ การคำนึงถึงลูกค้าผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งส่งผลต่อการทำธุรกิจในหลายด้าน เช่น ในส่วนของการตลาด เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่การเสพสื่อที่เน้นช่องทางดิจิทัลมากขึ้นในทุกเพศ ทุกวัย เราต้องวิเคราะห์และทำความเข้าใจว่าจะเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร และจะมอบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคเหล่านั้นในช่องทางดิจิทัลให้ดีมากยิ่งขึ้นในทุกๆ จุดบริการของเราได้อย่างไร หรืออย่างช่องทางการขายสินค้าต่างๆ ธุรกิจต้องมองให้ออกว่าในแต่ละช่องทางลูกค้ามีความแตกต่างกันอย่างไรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมเพื่อทำการตลาดให้ลูกค้ากลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมได้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งทางลอรีอัลเอง ได้มองถึงการจับมือกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซต่างๆ รวมถึงผู้ให้บริการ (Service Provider) เพื่อเพิ่มโอกาสและทดลองสิ่งใหม่ๆ กับพันธมิตรเหล่านี้ รวมถึงการสร้างโอกาสในการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ที่เหมาะสมกับลูกค้า ตลอดจนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงจากกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ก็เป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญ ดังนั้น การที่จะทำให้ลอรีอัลมีกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้น โดยการนำพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในโมเม้นท์ต่างๆ ของลูกค้าได้ โดยที่ยังคงรักษา Brand Equity และตัวตนของแบรนด์ (Brand Identifly) ไว้ในแพลทฟอร์มอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อีมาร์เก็ตเพลส ก็จะยิ่งทำให้ลอรีอัลเข้าถึงลูกค้าในช่องทางขายใหม่ๆ ได้ ประกอบกับการเติบโตของอีมาร์เก็ตเพลส จะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาลูกค้าใหม่ รวมทั้งสร้างความร่วมมือกับลูกค้าได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน"
นางสาวกีรติ โรจนกีรติกานต์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท พอลพ่า บาย ดามาคัน จำกัด กล่าวว่า "ธุรกิจออนไลน์ในประเทศไทยต้องใช้การเข้าถึงตัวบุคคลค่อนข้างมาก ช่องทางการตลาดผ่าน Influencer จึงมีประสิทธิภาพมากในแถบเอเชียไมใช่แค่ในประเทศไทย เพราะคนไทยชอบการรีวิว และการเข้าถึงโลกออนไลน์ได้ง่าย เช่น การทำธุรกิจบน LINE เพราะคนไทยเลือกที่จะ Add LINE แล้วได้สื่อสารตรงกับผู้ขายมากกว่า การที่คนอยู่กับโลกดิจิทัลเฉลี่ย 24 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ถือเป็นปัจจัยหลักที่มีผลกระทบกับธุรกิจทุกประเภท แม้กระทั่งธุรกิจโรงเรียนที่ไม่เคยทำโฆษณาออนไลน์ก็ต้องหันมาใช้บริการ เพราะคนอยู่บนโลกของโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น โฆษณาที่นิยมในอเมริกาสุดตอนนื้คือผ่านช่องทางอินสตาแกรม ในแง่ของธุรกิจหันมาทำออนไลน์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรายย่อยหรือรายใหญ่ ความท้าทายที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ คู่แข่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการแข่งขันในเรื่องราคาสูง แต่ในด้านบริการก็ต้องคงคุณภาพให้ดีเสมอ แม้กระทั่งอาชีพรับจ้าง อย่างเช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างตอนนี้มีทางเลือกในการทำงานกับหลากหลายบริษัท การทำโฆษณาบนออนไลน์จะเป็นแบบ Paid Media มากขึ้น การทำธุรกิจออนไลน์เพื่อให้ได้ลูกค้าแบบออร์กานิคหรือไม่ซื้อสื่อค่อนข้างเป็นไปได้ยาก"
"พอลพ่า เป็นสตาร์ทอัพจำหน่ายอาหารพรีเมี่ยมเพื่อสุขภาพ ที่ได้รับการลงทุนจาก Y Combinator ผู้ก่อตั้ง Dropbox กับ AirBNB ในประเทศ และยังเป็นการรวมตัวของบุคลากรที่มีความสามารถและประสบการณ์จากธุรกิจชั้นนำที่เกี่ยวข้อง พอลพ่าจึงเป็นบริษัทเดียวที่ให้บริการอาหารพร้อมส่ง (Food Delivery) ที่ทำงานเองทุกอย่างแบบครบวงจร เริ่มตั้งแต่ทำอาหารเอง มีเว็บไซต์ มีแอปฯ และมีพนักงานจัดส่งเป็นคนของเราเอง ซึ่งที่ผ่านมากิจกรรมการตลาดที่พอลพ่าจัดและได้รับความสำเร็จมากในไทย คือ การลดราคา การแจกของรางวัลชิ้นใหญ่โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมทำอะไรบางอย่างที่ไม่ยากและขั้นตอนไม่มาก เช่น การแนะนำเพื่อนใช้บริการผ่านแอปฯ รับสมาร์ทโฟน เป็นต้น"
นางพิทยากล่าวเพิ่มเติม "ถึงแม้ว่าวันนี้การซื้อของออนไลน์จะเป็นเรื่องที่ง่ายสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากที่ยังมีความกังวลในการใช้บริการออนไลน์ ดังนั้น สิ่งที่อยากฝากถึงผู้บริโภคเมื่อจะใช้คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ดีไวซ์ต่างๆ ในการซื้อสินค้าและบริการออนไลน์หรือทำธุรกรรมทางการเงินคือ 1. ตรวจสอบรายละเอียดสินค้าที่สั่งซื้อและจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนการชำระ 2. เลือกวิธีการชำระที่ปลอดภัยและพิจารณาสิทธิพิเศษเพื่อประโยชน์ในการชำระ เช่น การชำระผ่านบัตรเครดิต จะได้รับเครดิตในการชำระประมาณ 45-55 วัน หรือได้รับคะแนนสะสม หรือใช้คะแนนสะสมแลกเป็นส่วนลดราคาสินค้า หรือใช้โค้ดส่วนลดราคาสินค้า 3. ควรพิมพ์ URL ด้วยตัวเอง ไม่ใช้ลิงค์เชื่อมโยงที่มากับอีเมลหรือในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อเข้าสู่ระบบการโอนเงินชำระออนไลน์ 4. หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดโปรแกรมหรือแอปฯ จากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ลงบนอุปกรณ์ที่ใช้งานธนาคารออนไลน์ 5. ไม่เก็บเอกสารหรือข้อมูลสำคัญไว้ในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต เช่น เลขบัตรประชาชน เลขที่บัญชีเงินฝาก เบอร์โทรศัพท์มือถือ รหัสผ่านต่างๆ 6. ไม่ทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ตสาธารณะ แต่หากจำเป็นให้เปลี่ยนรหัสผ่านหลังจากใช้งานทันที 7. แจ้งเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินทันทีและขอคำแนะนำการใช้งานที่ปลอดภัย หากได้รับรหัสผ่านชั่วคราวโดยไม่ได้ส่งคำสั่งโอนเงิน หรือได้รับข้อความหรือได้คลิกลิงค์เพื่อดาวน์โหลดโปรแกรมต้องสงสัยหรือให้ข้อมูลในเว็บไซต์ปลอมไปแล้ว 8. ไม่ใช้รหัสผ่านที่ง่ายต่อการคาดเดาหรือวันเดือนปีเกิด 9. จำกัดวงเงินในการทำธุรกรรมผ่านธนาคารออนไลน์เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีถูกมิจฉาชีพขโมยรหัส 10. ควรออกจากระบบ (Logout) ทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน"