กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--เครือเจริญโภคภัณฑ์
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ประกาศขับเคลื่อนโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานในทุกประเทศทั่วโลกดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในเชิงรุกในทุกพื้นที่ที่เครือฯมีธุรกิจ โดยจัดให้มีการคัดเลือกโครงการเพื่อสังคมที่มีความโดดเด่นเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี โดยในปีนี้มีโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติรวมทั้งสิ้น 28 โครงการ จาก 204 โครงการที่ส่งเข้าประกวด ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการผลักดันให้ผู้บริหารและพนักงานได้มีส่วนร่วมในการก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ.2563 ของเครือฯภายใต้ยุทธศาสตร์ "Heart การดำเนินธุรกิจด้วยใจที่ยั่งยืน-Health การสร้างสังคมสู่ความยั่งยืน-Home การปกป้องและรักษาสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่อย่างยั่งยืน"ที่มีเจตนารมณ์ในการสร้างธุรกิจให้เติบโตไปพร้อมกับคู่ค้าและพันธมิตรทั้งระบบเศรษฐกิจ ประชาชนและประเทศชาติ
โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2560 โดยจัดให้มีการคัดเลือกผลงานโดดเด่นเป็นประจำทุก 2 ปี ในปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนในทุกพื้นที่ ทุกกลุ่มธุรกิจของทุกเขตประเทศทั่วโลก และมุ่งหวังให้คนซีพีทุกคนมีส่วนร่วมในการทำโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืน
สำหรับปีนี้ ได้จัดให้มีการประกาศผลโครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนครั้งที่ 2 ปี 2561 ณ สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยจัดขึ้นในงานประชุมสัมมนาวิสัยทัศน์สู่การปฏิบัติการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ครั้งที่ 1/2562 ที่มีนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยซีอีโอของทุกกลุ่มธุรกิจและผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมงานด้วยเป็นจำนวนมาก โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบรางวัลซีพีเพื่อความยั่งยืน ครั้งที่ 2 ปี 2561 จำนวน 28 โครงการ สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้บริหารและพนักงานที่ได้รับรางวัลนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากถือได้ว่าเขาเหล่านี้คือต้นแบบคนซีพีทำดีเพื่อสังคม
โครงการซีพีเพื่อความยั่งยืนดีเด่น ครั้งที่ 2 ปี 2561 จำนวน 28 โครงการ แยกเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในประเทศไทย รวม 18 โครงการ อาทิ โครงการธนาคารสัตว์น้ำชุมชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรอย่างยั่งยืน โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา หรือ ICT Talent โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า โครงการก้าวที่พลาดสู่โอกาสสายอาชีพ โครงการน้ำผึ้งชันโรงดอกเสม็ดขาวแห่งป่า 3 น้ำ โครงการส้มปลอดภัยคนไทยยิ้มได้ โครงการหาย(ไม่ห่วง) โครงการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนอย่างยั่งยืนด้วยกล้วยหอมทอง โครงการลดใช้ถุงพลาสติกให้มหาวิทยาลัย โครงการอุปกรณ์จดบันทึกอักษรเบรลล์เพื่อผู้พิการทางสายตา โครงการสามเณรปลูกปัญญานานาชาติ โครงการแปลงใหญ่ข้าวประชารัฐ จ.สุพรรณบุรี เป็นต้น
ส่วนที่เหลืออีก 10 โครงการ เป็นโครงการในต่างประเทศ ได้แก่ โครงการในประเทศเวียดนาม เช่น โครงการบริจาคโลหิตและให้ความรู้โรคธาลัสซีเมีย โครงการอาสาสมัครเพื่อสุขภาพอนามัยประชาชน โครงการสร้างบ้านพักแก่ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย โรงพยาบาลมะเร็งแห่งชาติ เป็นต้น โครงการในประเทศจีน เช่น โครงการกองทุนเงินดูแล Spring Pink โครงการทีมจิตอาสาซีพีโลตัส เป็นต้น โครงการในประเทศเมียนมาร์ ได้แก่ โครงการ Milk for Kids นมโรงเรียนจากพี่ให้น้อง โครงการในประเทศฟิลิปปินส์ ได้แก่ โครงการปลูกวันนี้เพื่อสิ่งที่ดีในวันข้างหน้า โครงการในประเทศลาว ได้แก่ โครงการเติมฝัน แบ่งปันน้ำใจให้น้อง และโครงการในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ โครงการสถานรับเลี้ยงเด็กฉุกเฉิน เมืองมินนิแอโพลิส
ในส่วนของผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน พ.ศ. 2563 ของเครือเจริญโภคภัณฑ์นั้น ได้มีการเร่งขับเคลื่อนให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนด โดยปัจจุบันกล่าวได้ว่ามีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และถือเป็นครึ่งทางของการดำเนินงานสู่เป้าหมายปี 2563 โดยสามารถดำเนินงานบรรลุเป้าหมายบางข้อแล้ว อาทิ การแสดงความโปร่งใสของการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลและความยั่งยืนผ่านการเปิดเผยข้อมูลในรายงานความยั่งยืนของเครือฯประจำปี ซึ่งครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจใน 21 ประเทศทั่วโลก และมีการสนับสนุนเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มเปราะบาง มากกว่า 100,000 ราย มีการลดปริมาณการใช้น้ำต่อหน่วยรายได้เกินกว่าร้อยละ 10 การพัฒนากระบวนการสร้างความผูกพันกับผู้มีส่วนได้เสียของแต่ละกลุ่มธุรกิจ
ส่วนเป้าหมายอื่นส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าตามแผนงาน และเริ่มขยายผลออกสู่หน่วยงานในต่างประเทศ เช่น ด้านสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติด้านแรงงาน และการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างรับผิดชอบ สำหรับเป้าหมายที่มีความก้าวหน้าน้อยกว่าแผนงานคือการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยรายได้ ที่กำลังเร่งดำเนินการในปี 2562-2563 นอกจากนี้ เรายังมีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมขึ้นมา คือการลดการใช้พลาสติกสำหรับบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย ให้สามารถนำมาใช้ซ้ำ ใช้ใหม่ หรือย่อยสลายได้ 100% ภายในปี 2568