กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--เอสซีจี
จากความต้องการใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้หลายภาคส่วนหันมาให้ความสนใจกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐที่ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 20 ปี มุ่งการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มตื่นตัวและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างจริงจัง ด้านองค์กรเอกชนก็ต่างปรับตัว เพื่อสร้างการเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้จริง หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs)
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี กล่าวว่า "เอสซีจีมี Passion และให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยการนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาปรับใช้ภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Committee) เพื่อกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ตลอดจนติดตามเรื่อง Circular Economy ในระดับสากลแล้วนำมาปรับใช้ในการสร้างความร่วมมือระดับท้องถิ่น และสร้างเครือข่ายระดับประเทศ รวมถึงพัฒนาสินค้าและบริการตามแนวทาง Circular Economy ด้วยการใช้นวัตกรรม และส่งเสริมให้พนักงานและคู่ธุรกิจนำไปปรับใช้ ภายใต้แนวปฏิบัติ Circular Way โดยเริ่มส่งเสริมให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการแยกขยะลงถังขยะ 6 ประเภทที่วางไว้ตามจุดต่างๆ ในเอสซีจี โดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดการขยะ (Waste Management) ให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ และก้าวสู่การเป็น Zero Landfill โดยขยะที่ถูกแยกประเภทแล้ว จะถูกส่งไปเข้ากระบวนการจัดการ และขยะบางประเภทที่สามารถนำกลับมาสร้างมูลค่าหรือสร้างประโยชน์ได้อีก เช่น กระดาษขาว-ดำ ก็จะถูกนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษไอเดียกรีน กระดาษน้ำตาล หรือนำไปผลิตเป็นกระดาษบรรจุภัณฑ์สำหรับทำลอนลูกฟูก อีกทั้งในอนาคตจะมีการแปรรูปขยะประเภทเศษอาหารเพื่อนำกลับมาใช้ในการปรับปรุงดิน รวมทั้งส่งเสริมนวัตกรรม "Green Meeting" หรือการจัดประชุมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในทุกโอกาสของเอสซีจี"
อย่างไรก็ตาม เอสซีจีเพียงองค์กรเดียว คงไม่สามารถสร้างให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างได้ เอสซีจีจึงให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันผลักดันและสนับสนุนให้ประเทศไทยและประเทศในอาเซียน บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้ (Sustainable Development Goals : SDGs)
"นับเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยได้เป็นประธานอาเซียนและเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมผู้นำและรัฐมนตรีประเทศอาเซียน ตลอดทั้งปี 2562 เอสซีจีจึงได้มีส่วนร่วมแบ่งปันแนวคิดนวัตกรรม "Green Meeting" ใน 5 หมวด สำหรับการจัดประชุมดังกล่าวร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ได้แก่ การจัดเตรียมสถานที่ที่เดินทางได้สะดวกด้วยระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะ (Green Venue) การลดใช้เอกสารในทุกขั้นตอน (Green Document) การออกแบบตกแต่งสถานที่ เวที นิทรรศการ ด้วยวัสดุที่สามารถใช้ซ้ำ นำกลับไปใช้ใหม่ รวมถึงการประหยัดพลังงาน (Green Arrangement) การจัดเตรียมอาหารและเครื่องดื่มให้เพียงพอ ไม่เหลือทิ้ง เลือกอาหารพื้นถิ่น ไม่เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ (Green Catering) และการคำนวณค่าคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากการจัดงาน แล้วชดเชยด้วยการปลูกต้นไม้ทนแทน (Climate Protection) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรณรงค์สร้างจิตสำนึก และชวนผู้ร่วมงานร่วมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย" นายศักดิ์ชัย กล่าว
ไม่เพียงคำนึงการพัฒนาอย่างยั่งยืนเท่านั้น แต่เอสซีจียังมุ่งคิดค้น และนำเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับตลอดกระบวนการผลิตให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
นายศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า "นอกจากแนวคิดนวัตกรรม "Green Meeting" แล้ว เอสซีจียังมีส่วนร่วมนำเสนอผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิลในการจัดประชุมผู้นำอาเซียน เช่น นิทรรศการจากกระดาษรีไซเคิล ฉากหลังสำหรับถ่ายภาพ เก้าอี้กระดาษ แท่นบรรยาย กล่องกระดาษสำหรับรับคืนป้ายชื่อคล้องคอ สมุดโน้ตจากกระดาษรีไซเคิล 100% บรรจุภัณฑ์อาหาร Fest หลอดกระดาษ ขวดน้ำพับได้ Fill Fest และถังขยะแยกประเภท รวมถึงกระเป๋าถุงปูน และตะกร้าสานจากเส้นเทปกระดาษที่นำวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตของเอสซีจีมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนมาจากความมุ่งมั่นของเอสซีจีที่ต้องการใช้ทรัพยากรใหม่ให้น้อยที่สุด และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด โดยใช้นวัตกรรมการผลิตให้สามารถนำกระดาษที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ และเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบรีไซเคิลที่สูงขึ้น แต่ยังคงคุณภาพของกระดาษให้แข็งแรง เพื่อให้สามารถนำไปผลิตเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ ได้ อีกทั้งยังเป็นการเชิญชวนให้ผู้ร่วมงานร่วมปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย"
เอสซีจี และกระทรวงการต่างประเทศ ยังมีแนวคิดร่วมกันที่จะประยุกต์ใช้นวัตกรรม Green Meeting และผลิตภัณฑ์จากกระดาษรีไซเคิล สำหรับการจัดประชุมตลอดทั้งปี 2562 และเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน อุปกรณ์จากกระดาษรีไซเคิลบางส่วนจะถูกมอบให้หน่วยงานที่มีความต้องการใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด ส่วนที่เหลือก็จะถูกนำกลับไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษรีไซเคิลได้อีกครั้ง เพื่อให้เกิดขยะจากการประชุมน้อยที่สุด ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อีกทั้งยังได้ขยายแนวคิดดังกล่าวไปสู่กระทรวงอื่นๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมในวงกว้าง
ก้าวต่อไป เอสซีจีจะยังคงมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้มีส่วนได้เสียให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวปฏิบัติ Circular Way ด้วยการพัฒนาและต่อยอดความยั่งยืนโดยใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผสานกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ภายในองค์กร ซึ่งจะช่วยยกระดับกระบวนการดำเนินงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจเติบโต ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ตลอดจนเดินหน้าสร้างความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนอาเซียนให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals : SDGs) และพร้อมที่จะเป็นหนึ่งในองค์กรต้นแบบที่ช่วยถ่ายทอดและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ที่สนใจ ด้วยเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยและอาเซียนให้เจริญก้าวหน้าตามแนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" ต่อไป