กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ประชุมร่วม 4 ค่ายรถยนต์ เพื่อเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก หวังยกระดับให้ไทยเป็นฐานที่มั่นการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากช่องโหว่ของมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในระยะแรก ทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้กับผู้ผลิตรถยนต์ HEV/PHEV โดยไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Vehicles) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve ของประเทศ ดังนั้น สศอ. จึงได้นำเสนอมาตรการในการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนการผลิตชิ้นส่วนสำคัญ "Core Technology" ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งต้องการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าได้ในราคาประหยัด และยังช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือเรียกว่า "อีโค่อีวี (ECO EV)"
นายณัฐพล เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มาตรการ ECO EV มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ (1) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถปรับพลิกโฉมฐานการผลิตรถยนต์ ECO Car ซึ่งเป็นฐานการผลิตรถยนต์นั่งหลักของประเทศไทย ซึ่งถูกกระทบอย่างรุนแรงจากมาตรการภาษีสรรพสามิตของการส่งเสริม EV ระยะแรก และ (2) เพื่อปิดจุดอ่อนของมาตรการส่งเสริม EV ในรอบแรก ซึ่งจากโครงการที่บริษัทเสนอขอรับการสนับสนุนทั้งหมด สศอ. พบว่า มีปัญหาใน 3 ประเด็นหลักคือ ร้อยละ 79.8 ของรถยนต์ทุกคันเป็นการลงทุนผลิต HEV ที่ไม่สามารถชาร์จไฟฟ้าได้ จึงไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้ไปสู่ BEV ในอนาคตได้ และกว่าร้อยละ 91.8 ของรถยนต์ที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน ไม่มีการลงทุนใน Core Technology ของ EV ในประเทศไทยเลย โดยเป็นการประกอบขั้นปลายสุด คือ ประกอบตัวถังและทดสอบแบตเตอรรี่ นอกจากนี้ รถยนต์ทุกคันที่ทุกบริษัทเสนอขอรับการสนับสนุน มีราคาสูงกว่าที่ประชาชนผู้ใช้รถยนต์ส่วนใหญ่จะเข้าถึงได้ คือ ราว 1-6 ล้านบาท ซึ่งย่อมจะทำให้จะไม่แพร่หลายหรือมีขนาดการผลิตที่เพียงพอสำหรับการลงทุนผลิต Core Technology ของ EV ในประเทศไทย ประกอบกับ นายกรัฐมันตรีได้มีข้อสั่งการให้มีการเร่งรัดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาจำหน่าย เพื่อเป็นอีกทางเลือกของประชาชนในกานช่วยกันลดฝุ่น pm 2.5 จากการใช้รถยนต์ดีเซล และเบนซิน
นายณัฐพล เปิดเผยอีกว่า ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา อก. โดย สศอ. ได้ทำงานร่วมกับ BOI และ กระทรวงการคลัง และได้มีการปรับปรุงและสรุปข้อเสนอของมาตรการการ ECO EV จนล่าสุดสามารถตอบวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้ครบทุกข้อ อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะได้สรุปและประกาศมาตรการนี้ ได้รับทราบจาก กระทรวงการคลังว่า ได้รับหนังสือน่วมลงนามจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เสนอขอรับการส่งเสริม HEV 3 ราย คือ Toyota Honda และ Nissan และบริษัทผู้จัดจำหน่ายรถปิกอัพ 1 ราย คือ ตรีเพรชอิซูซุ ได้มีข้อท้วงติง และต้องการให้ภาครัฐดำเนินมาตรการในทิศทางอื่น และในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา อก. โดย สศอ. จึงได้หารือกับผู้ผลิต HEV ทุกรายอีก ทั้งการหารือ แบบ รายบริษัท และ กลุ่ม 3+1 รายนี้ ซึ่งทั้ง 3 รายรับที่จะเสนอแนวทางในการปรับโครงการการลงทุนของแต่ละบริษัท เพื่อให้ไม่เป็นเพียงโครงการประกอบ HEV ขั้นสุดท้ายดังที่เสนอมาในปัจจุบัน แต่จะเพิ่มให้มีการลงทุนเพื่อพยายามตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อข้างต้น คือ (1) ราคาที่คนไทยต้องเข้าถึง EV ได้ (2) มีกระบวนการผลิตของชิ้นส่วน EV core technology (3) มีการก้าวไปสู่รถยนต์ที่สามารถชาร์ทไฟฟ้าได้ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการพัฒนาโครงข่ายการพัฒนาไฟฟ้า และ (4) มีเส้นทางการพัฒนาฐานการผลิต ECO Car ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า
นายณัฐพล เปิดเผยถึงผลการประชุมเปิดรับฟังข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหามาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าระยะแรก ในวันนี้ว่า "หลังจากที่ทั้ง 3 บริษัทได้ทราบโจทย์และขอกลับไปหาแนวทางประมาณ 1 เดือน ซึ่งในวันนี้บริษัทได้มารายงานผล ซึ่งสรุปได้ว่า บริษัทไม่มีข้อเสนอที่จะตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ ในการแก้ปัญหามาตรการ EV ระยะแรกได้ โดยเห็นว่า ในช่วง 6 ปีนี้ ภาครัฐยังไม่ควรมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ควรรอให้มาตรการภาษีสรรพสามิตจบลงในปี 2568 ก่อน จึงควรหามาตรการแก้ไขต่อไป โดยหลังจากนี้ สศอ. จะสรุปสถานการณ์ล่าสุด เสนอ อก. ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ industry 4.0 เพื่อทราบสถานะและพิจารณาตัดสินใจต่อไปว่าประเทศไทยและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะเดินออกจากข้อติดขัดของการพัฒนารถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้านี้ร่วมกัน หรือไม่อย่างไร"