กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กระทรวงพลังงาน
กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกองทุนฯ ทุ่มงบ 4,000 ล้านบาทหวังลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ในโครงการเงินหมุนเวียนฯ ร่วมกับ 11 ธนาคารพันธมิตรคาดประหยัดได้สูงกว่า 3,000 ล้านบาท / ปี จากการที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดโครงการเงินหมุนเวียนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน และพลังงานทดแทนโดยสถาบันการเงิน ระยะที่ 1 และ 2 นั้น ซึ่งได้ประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ทาง พพ.จึงได้สานต่อโครงการระยะที่ 3 โดยมุ่งให้เกิดการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นมากกว่าระยะที่ผ่านมา โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนได้เกิดการลงทุน เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน
ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวในงานสัมมนา
“ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ” ว่าพลังงานเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งโครงการเงินหมุนเวียนฯ เป็นอีกหนึ่งโครงการของ พพ. ที่เป็นกลไกของภาครัฐในการอนุรักษ์พลังงานและส่งเสริมพลังงานทดแทนโดยได้รับความร่วมมือจากภาคสถาบันการเงิน 11 แห่ง
ดร.ปิยสวัสดิ์ ยังเปิดเผยต่อว่า โครงการเงินหมุนเวียนระยะ 2 (2549-ปัจจุบัน) มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุน 94 เกิดการลงทุนจากโครงการนี้เป็นจำนวนกว่า 3,778 ล้านบาท โดยใช้เงินจากโครงการเงินหมุนเวียนจำนวน 2,000 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานมากกว่า 1,500 ล้านบาท / ปี ทั้งนี้ทางภาคสถาบันการเงินได้ปล่อยสินเชื่ออีกจำนวนกว่า 5,000 ล้านบาท
ทางด้าน นายพานิช พงศ์พิโรดม อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า หากผู้ประกอบการมีแนวทางในการประหยัดพลังงาน ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์ การใช้พลังงานทางเลือกในการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน ที่ส่งผลดีต่อท่านเองและประเทศชาติ แต่ยังขาดเงินทุน โครงการเงินหมุนเวียนก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ดีสำหรับผู้ประกอบการ โดยสามารถกู้ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อโครงการ อัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 4 ต่อปี โดยมีระยะเวลาชำระเงินต้นคืนไม่เกิน 7 ปี ผ่านสถาบันการเงิน 11 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารไทยธนาคาร, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารนครหลวงไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารยูโอบี จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้โครงการที่มีสิทธิ์ขอรับการสนับสนุน ต้องเป็นโครงการเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต ระบบปรับอากาศ โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม การผลิตพลังงานจากของเสียหรือชีวมวล เป็นต้น