กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--กระทรวงยุติธรรม
9 หน่วยงานยุติธรรมจับมือแลกเปลี่ยนข้อมูลในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมเปิดตัวระบบนำร่องศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบ (Data Exchange Center : DXC) หวังเปลี่ยนโฉมระบบกระบวนการยุติธรรมยุคใหม่ด้วยการบูรณาการข้อมูลจากหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เชื่อ DXC จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเวลาในการติดตาม และค้นหาข้อมูล รวมทั้งเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชน ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหารในกระบวนการยุติธรรม
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2551 สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) กระทรวงยุติธรรม ได้จัดสัมมนานำเสนอแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2552-2555 และระบบนำร่องศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบ ขึ้น ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ โดยมีบุคลากรที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมกว่า 500 คนเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอแผนแม่บทฯ และการสาธิตระบบศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบ ในงานยังมีการลงนามความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม 9 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการปกครอง กรมคุมประพฤติ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมราชทัณฑ์ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานกิจการยุติธรรม เพื่อใช้ระบบดังกล่าว
นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า แผนแม่บทฯ นี้นับเป็นจุดเริ่มต้นและสัญญาณที่ดีที่แสดงว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความจำเป็น รวมถึงเห็นความสำคัญและมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะประสานการดำเนินงานพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปอย่างบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อน ประหยัด รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทั้งจากมุมมองของหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้ให้บริการความยุติธรรม และมุมมองของประชาชนหรือเอกชนในฐานะผู้รับบริการ
นายสมณ์ พรหมรส ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและประสานแผนกระบวนการยุติธรรม สำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า ตามที่ได้มีมติของคณะรัฐมนตรีที่ได้อนุมัติร่างแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรม พ.ศ.2552-2555 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 เพื่อมุ่งหวังให้หน่วยงานราชการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งกระทรวงยุติธรรม โดยสำนักงานกิจการยุติธรรมได้เริ่มดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากศูนย์ข้อมูลและวิจัยทางวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตั้งแต่พ.ศ. 2547 จนสำเร็จเมื่อปีพ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา โดยพัฒนาเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบ (Data Exchange Center: DXC) ซึ่งจะทำให้การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในกระบวนการยุติธรรมเกิดประสิทธิภาพ ทั้งในด้านระบบฐานข้อมูล ระบบเครือข่าย และระบบการรักษาความปลอดภัย
โดยเบื้องต้นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกระบวนการยุติธรรมต้นแบบได้พัฒนาไปจนสามารถเริ่มใช้ในพื้นที่นำร่องได้แล้ว 3 จังหวัด คือ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และนครปฐม
ด้าน ดร.พรชัย ชันยากร ศูนย์ข้อมูลและวิจัยทางวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เปิดเผยถึงหลักการทำงานของระบบ DXC ว่า เป็นระบบศูนย์กลางการสืบค้นข้อมูลกระบวนการยุติธรรมจากหน่วยงานยุติธรรมสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องการข้อมูลในกระบวนการ เช่น ประชาชนที่ต้องการติดตามสถานะคดีของตนเอง หรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ต้องการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดี ตรวจสอบประวัติผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น
“ระบบ DXC จะอนุญาตให้ผู้ใช้งานที่มีสิทธิ์ สามารถทำการค้นหาข้อมูลผ่านระบบ โดยระบบจะเป็นศูนย์กลางการค้นคืนข้อมูลจากฐานข้อมูลของแต่ละหน่วยงานที่อนุญาตให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ผ่านทางระบบ QM (Query Manager) ซึ่งจะทำหน้าที่ดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลจริงและประมวลผลสรุปข้อมูลเพื่อแสดงผลต่อไปยังผู้ใช้ระบบ โดยระบบ DXC จะให้บริการได้ทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติการ และเจ้าหน้าระดับผู้บริหาร ระดับนโยบาย รวมทั้งประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการให้บริการ ได้แก่ ข้อมูลด้านการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม (ข้อมูลบุคคล ข้อมูลหมายจับ ข้อมูลคนหาย รายงานสรุปคดี) ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจากอัยการ (ความคืบหน้าการดำเนินคดีในชั้นศาล ข้อมูลสรุปผลคดี) ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ ประวัติผู้ต้องขัง ประวัติผู้ถูกคุมประพฤติ และข้อมูลประวัติผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น” ดร.พรชัย กล่าว
อย่างไรก็ดี การใช้ประโยชน์จากระบบ DXC อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ที่จะเข้ามาเติมข้อมูลการดำเนินการในภารกิจที่รับผิดชอบ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลที่สามารถสืบค้นได้อย่างรวดเร็ว และถูกต้อง ลดขั้นตอนและข้อผิดพลาดของข้อมูล อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการวางนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมได้สำหรับผู้ปฏิบัติงานในระดับผู้บริหารและนโยบาย สำหรับประชาชน สามารถใช้ประโยชน์ในการติดตามสถานะคดีของตนเองได้ รวมถึงได้รับความโปร่งใสเกี่ยวกับคดีในทุกขั้นตอนการทำงาน
เผยแพร่โดย ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม โทร.0-22701350-4 ต่อ 113