กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ซีพี ออลล์
"ธรรมะเป็นสิ่งจำเป็นมาก คนที่เข้าใจธรรมะเท่านั้นที่อยู่ในโลกนี้อย่างมีความสงบเย็น เพราะชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง ผู้รู้และเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงย่อมอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นทุกข์" เป็นคำบรรยายตอนหนึ่งของพระครูสุวัฒน์จันทโชติ เจ้าอาวาสวัดสามัคคีประชาราม จ.ลพบุรี ในหัวข้อธรรมกับชีวิต โครงการ "เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" จัดโดยบมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย
เจ้าอาวาสวัดสามัคคีประชารามพูดถึงอานิสงส์ของการฟังธรรมว่ามีอยู่ 5 อย่างด้วยกัน คือ 1. ได้ยินเรื่องแปลกใหม่ 2. ได้พิจารณาเรื่องเก่า 3. ได้บรรเทาข้อกังขา 4. ได้พัฒนาความคิด ซึ่งคนที่ทำตนเป็นน้ำไม่เต็มแก้ว มีโอกาสจะพัฒนาด้วยตัวเองได้ง่าย เพราะมีเรื่องที่ยังไม่รู้มากมาย การได้ฟังจากมุมมองต่างๆ ก็ทำให้ได้พัฒนาความคิด และ5. ทำให้จิตผ่องใส อย่างเช่นภิกษุบางรูปในสมัยพระพุทธกาลเมื่อได้ฟังพระพุทธเจ้าแล้วหลุดพ้น เพราะจิตผ่องใสและเข้าใจความเป็นจริง
พระครูสุวัฒน์จันทโชติบอกว่า เมื่อปี 2527 ได้ไปฟังท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์ที่สวนโมกข์ หลวงพ่อท่านพูดถึงธรรมะ 4 ข้อ 4 ประการ ดังนี้ ธรรมะคือธรรมชาติ, ธรรมะคือกฎธรรมชาติ, ธรรมะคือหน้าที่ธรรมชาติ และธรรมะคือผลจากการทำหน้าที่
อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจความจริง 2 อย่างก่อน ความจริงอย่างแรกเรียกว่าความจริงโดยธรรมชาติ หรือความจริงโดยสัจธรรม ซึ่งเป็นความจริงที่ทุกคนจะต้องมีเหมือนกัน เช่น ความแก่ ความเจ็บ และความตาย เป็นความจริงที่ทุกๆ ชีวิตมีเสมอกันหมด จึงไม่ควรดูหมิ่นกัน เพราะทุกชีวิตถ้าว่าไปแล้วก็เป็นหนึ่งเดียวกันโดยธรรมชาติ แต่ความต่างก็คือสมมติ
ความจริงแบ่งเป็นสมมติสัจจะ ความจริงโดยสมมติ กับ"ปรมัตถสัจจะ" ความจริงที่เป็นธรรมชาติ
สมมติสัจจะ คือความจริงโดยสมมติ อย่างเช่น เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นตำรวจ เป็นพ่อเป็นแม่ หรือเป็นลูก ฯลฯ สมมติจะเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นจะต้องทำหน้าที่ตามสมมติที่ถูกกำหนดในสังคม เป็นการสมมุติเพื่อทำหน้าที่เท่านั้น "ธรรมะคือหน้าที่"ซึ่งถ้าไม่ทำตามหน้าที่จะเกิดความเสียหายได้
ส่วนธรรมะคือธรรมชาติ จะเห็นได้ว่าสรรพสิ่งทั้งหลายเป็นธรรมะหมดเลย อย่างปากกาหรือสมุด แต่ก่อนเป็นวัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติ ชีวิตโดยแท้จริงก็เป็นธรรมชาติ เกิดขึ้นด้วยเหตุว่าใจตั้งอยู่และดับไป มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกขณะโลกเปลี่ยนแปลง แม้นอนหลับอยู่แท้ๆ ก็ยังแก่ ฉะนั้นความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นกฎธรรมชาติอันหนึ่ง
กฎเหล่านี้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เมื่อเกิดมาก็เพื่อทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ในขณะที่มีชีวิตต้องเดินไปข้างหน้าไปหาความแก่ ความเจ็บ ไม่ว่าเศรษฐี ผู้ดี ยาจก มีกฎธรรมชาติเหมือนกัน อย่างอื่นอาจไม่เสมอกันโดยสมมติ แต่กฎธรรมชาติเสมอกันเลย ดังนั้นต้องดูแลกายจิตให้ดี และทำหน้าที่ไปตามเหตุปัจจัย
ธรรมะก็คือกฎของธรรมชาติ ธรรมะคือหน้าที่ธรรมชาติ การทำอะไรก็แล้วแต่ย่อมมีผล เพราะเป็นกฎความจริง กฎธรรมชาติ กฎแห่งกรรม กรรมคือการกระทำ ซึ่งการกระทำต่างๆ จะมีผลต่อกรรม ฉะนั้นควรพยายามควบคุมการกระทำของตัวเองให้เป็นไปในแนวทางที่ดี หรือกุศลกรรม
ทำดีก็ดี ทำชั่วก็ชั่ว ไม่ใช่ให้ใครมาบอกให้ทำชั่ว หรือไม่ต้องให้คนอื่นประกาศว่าเป็นคนดี ถ้าเข้าใจอย่างนี้ก็จะมีความสุขในการทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เพราะทำดี ดี ทำชั่ว ชั่ว เหมือนปลูกข้าวโพดได้ข้าวโพด ปลูกข้าวฟ่างได้ข้าวฟ่าง แต่จะขายได้ราคาดีหรือเปล่าก็มีเหตุปัจจัยต่างๆ
"เราทำดีก็คือดี ทำชั่วก็คือชั่ว แต่คนจะชมหรือไม่ชมมีเหตุปัจจัย อย่าไปปะปนกัน ถ้าเข้าใจการทำความดี เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำ เพราะมันให้ความสุขสงบเย็นกับจิตของเรา จึงต้องควบคุมกาย วาจา ใจ ให้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง ดังที่ว่ากาย วาจา ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง จิตประคองต้องไม่หวังดังนี้หนา ทิฐิเห็นว่าเป็นอนัตตา ได้ชื่อว่าเห็นธรรมสิ้นกรรมเอย"
พระครูสุวัฒน์จันทโชติย้ำว่า เรื่องธรรมะ บางคนบอกว่ายาก แต่บางคนบอกไม่ง่าย แสดงว่าธรรมะไม่ได้อยู่ที่ว่ายากหรือง่าย แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ มรรคผลนิพพานก็อยู่ที่ผู้ปฏิบัติ ไม่ได้อยู่ที่ใครหรืออยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าก็เป็นเพียงผู้ชี้บอกเท่านั้น
คนเราเมื่อจิตวุ่นวาย เท่าที่วิเคราะห์ดูน่าจะมี 2-3 อย่าง 1. มีของโชว์มากกว่าของใช้ 2. มีส่วนเกินมากว่าส่วนจำเป็น 3. เลี้ยงตัณหามากกว่าเลี้ยงชีวิต ตัณหาก็คือ ความอยาก
กรณีมีของโชว์มากกว่าของใช้ เช่นคนบ้านรวย ของใช้หรือเสื้อผ้าใช้จริงๆ ไม่เท่าไหร่ แต่มีของโชว์มากเกินไปก็ต้องยุ่งกับการบริหาร จิตเกิดทุกข์กับการบริหาร หรือถ้ามีเกินความจำเป็นก็เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ที่จริงศีลเป็นเรื่องที่ทำให้อยู่อย่างพอดี ศีล 8 ศีล 5 เป็นการลดส่วนเกิน เป็นการลดความอยากทั้งหลาย
"เราต้องมาลดส่วนเกิน เมินอบายมุข ดับทุกข์อุปทาน จะได้ไม่ต้องไปมัวทุกข์ ซึ่งทุกข์เป็นสิ่งที่ทุกชีวิตมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะให้คนอื่นมาแก้ทุกข์ให้คงยาก ต้องดับด้วยตัวเราเอง ด้วยการลดส่วนเกินที่จะทำให้เกิดความทุกข์ อย่าคิดว่าแก้ไม่ได้ คนเข้าใจชีวิตก็คือเข้าใจธรรมะ"
เจ้าอาวาสวัดสามัคคีประชารามแนะนำว่า "อัตตาหิ อัตตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน เมื่อตนเป็นที่พึ่งโดยมีธรรม ก่อนที่จะคืนร่างที่ยืมมาใช้ชั่วคราว ควรใช้ประโยชน์ให้คุ้ม ด้วยการสร้างบารมีรักษาศีล ซึ่งไม่มีเงินก็สามารถทำได้ ถ้ายังมีลมหายใจอยู่ ขอให้ทุกคนรีบทำ อย่าเสียโอกาสเพราะวันเวลามีน้อย ดังนั้นก่อนตาย ควรจะแก่อย่างมีคุณค่า หรือถ้าจะตายก็ตายอย่างมีประโยชน์"
สนใจร่วมฟังธรรมะบรรยายในโครงการ"เรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ" ได้ที่ ชั้น 11 อาคารซี.พี.ทาวเวอร์ ถนนสีลม ทุกวันศุกร์ เวลา 12:00 -13:30 น. โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ