กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--ธนาคารไทยพาณิชย์
เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องราว 6-7% ในปี 2019 จากการส่งออกและการลงทุนจากต่างชาติ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบค่อนข้างจำกัด โดยการส่งออกคาดว่าจะรักษาระดับการเติบโตที่ดีได้ด้วยปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการของคู่ค้าสำคัญที่มีต่อสินค้าที่ผลิตโดยเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีภายใต้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ด้านการลงทุน เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวียังคงสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติได้ โดยเฉพาะในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและแนวโน้มการขยายโรงงานในอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้เวียดนามมีแนวโน้มเป็นฐานการผลิตที่จะสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศได้สูงท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่มีผู้ผลิตสินค้าในจีนหลายรายตัดสินใจประกาศย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ และใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบของเวียดนามในเรื่องต้นทุนการผลิตและสิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้การท่องเที่ยวในภาพรวมที่มีแนวโน้มสดใสจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี โดยนักท่องเที่ยวจากจีนและจากประเทศในภูมิภาคเอเชียคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงระยะสั้นคือความเปราะบางต่อเศรษฐกิจภายนอกและปัจจัยเสี่ยงรายประเทศ ซึ่งรวมถึงความผันผวนของสกุลเงินท้องถิ่นซีแอลเอ็มวีที่อาจสูงขึ้น ความเป็นไปได้ที่กัมพูชาและเมียนมาจะสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ Everything But Arms (EBA) เนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเติบโตอย่างรวดเร็วของสินเชื่อในกัมพูชาและเวียดนาม
กัมพูชาจะรักษาระดับการเติบโตที่สูงราว 6.8% ในปี 2019 จากอุปสงค์ภายนอกที่แข็งแกร่ง การส่งออกคาดว่าจะเร่งตัวก่อนสหภาพยุโรปถอนสิทธิประโยชน์ EBA ในเดือนสิงหาคม 2020 ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการพิจารณา ประกอบกับการท่องเที่ยวจะเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ จากแนวโน้มการขยายตัวสูงในอนาคต โดยมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักในกัมพูชา
ลาวคาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเป็น 7% ในปี 2019 โดยมีการส่งออกไฟฟ้าและการก่อสร้างเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก อย่างไรก็ตามการอ่อนค่าของเงินกีบและแนวโน้มการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจด้านต่างประเทศ
เมียนมามีแนวโน้มฟื้นตัวที่ราว 6.8% ในปี 2019 โดยมีการส่งออกเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก การส่งออกคาดขยายตัวต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก ในขณะที่ภาคการผลิตและการบริการคาดว่าจะเติบโตราว 8% ความเสี่ยงต่อการเติบโตและการพัฒนาเศรษฐกิจในปีนี้และระยะข้างหน้า เพิ่มขึ้นจากความเป็นไปได้ที่เมียนมาจะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตกในประเด็นวิกฤตโรฮิงญา
เวียดนามจะยังคงขยายตัวได้ดีราว 6.5% ในปี 2019 ต่อเนื่องจากปี 2018 ที่เติบโต 7.08% เวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติได้เป็นจำนวนมาก รวมถึงการเป็นหนึ่งในฐานการผลิตแห่งใหม่ของจีนหากสงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อ แต่ความท้าทายเชิงโครงสร้างสำคัญของเวียดนามคือการเติบโตอย่างรวดเร็วของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรมที่ชาวต่างชาติเป็นผู้ลงทุน ในขณะที่การถ่ายโอนเทคโนโลยีอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นความท้าทายของการพัฒนาอุตสาหกรรมโดยรวมของเวียดนามในระยะต่อไป