กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--มรภ.สงขลา
คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา นำนักศึกษาลงแขกเกี่ยวข้าว สืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นตามแนวพระบรมราโชบาย พร้อมถ่ายทอดความรู้เกษตรกรเข้าใจวิธีคัดเลือก-เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ช่วยลดต้นทุนผลิต
ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางคณะฯ จัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมข้าว ตามแนวพระบรมราโชบาย ถวายในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยนำนักศึกษาร่วมประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าวในพื้นที่ ต.เกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา และให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรในพื้นที่ราว 40 คน เกี่ยวกับการคัดเลือกและการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวอย่างถูกวิธี เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวพื้นเมืองบริสุทธิ์และคุณภาพดี รวมทั้งช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่ให้สูญหาย สามารถนำพันธุ์ข้าวที่คัดไว้ใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีสำหรับการปรับปรุงพันธ์ต่อไปในอนาคต ตลอดจนเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีการลงแขก และปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนให้ความสำคัญกับอาชีพเกษตรกรรมมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีที่มีมาแต่เดิมของไทย และเป็นการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายอย่างยั่งยืน
ดร.มงคล กล่าวว่า มรภ.สงขลา เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศที่เข้าร่วมยุทธศาสตร์ใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบาย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญ คือ ให้บริการทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี น้อมนำแนวพระราชดำริ และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งมีแนวทางที่จะพัฒนาท้องถิ่นตามพระบรมราโชบายได้ โดยการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการเกษตรแบบมีส่วนร่วม ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตรดำเนินโครงการบริการวิชาการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มทักษะวิชาชีพและพัฒนาอาชีพของกลุ่มเกษตรกรให้มีความมั่นคงและยั่งยืนให้แก่ชุมชน ต.เกาะแต้ว ภายใต้โครงการ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง
ด้าน ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป้าหมายมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายสายพันธุ์ ได้แก่ เล็บนก หอมกระดังงา หอมจันทร์ ดอกพะยอม รวงรี ลูกปลา ดำเบา จำปา เป็นต้น ซึ่งพันธุ์ข้าวเหล่านี้สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมท้องถิ่นได้ดี ทั้งยังทนทานต่อการเข้าทำลายของโรคและแมลงศัตรู สามารถจัดการผลิตแบบอินทรีย์ได้ง่าย นอกจากนี้ ข้าวพันธุ์พื้นเมืองแต่ละสายพันธุ์มีคุณค่าทางโภชนาการแตกต่างกัน และมีคุณสมบัติที่ดีเกี่ยวกับความหอมนุ่มและรสชาติ ทางคณะฯ จึงเล็งเห็นความสำคัญของการฟื้นฟูการปลูกข้าวพื้นเมืองเฉพาะถิ่น และการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นเมืองในแหล่งที่ปลูก เพื่อช่วยไม่ให้พันธุกรรมข้าวสูญหายไปจากธรรมชาติ และเป็นแหล่งพันธุกรรมที่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต
อาจารย์สันติ หมัดหมัน รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา คณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า จากการดำเนินงานโครงการบริการวิชาการใน 2 ปีที่ผ่านมาพบว่า เกษตรกรในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการคัดพันธุ์ข้าว และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์อย่างถูกวิธี จึงทำให้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรในชุมชนเกาะแต้วปลูกนั้นมีการปะปนพันธุ์ ส่งผลให้ได้ผลผลิตต่ำลง ทำให้เกษตรกรไม่สามารถพึ่งตนเองได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากภายนอกเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิต ประกอบกับเกษตรกรยังมีการเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้แกะ ซึ่งต้องใช้แรงงานคนในการเก็บเกี่ยว ทางคณะฯ จึงได้นำนักศึกษาไปร่วมประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ที่กำลังหายไปจากสังคมเกษตรกรไทย และเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังสามารถสร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้าน ชุมชนที่อาศัยอีกด้วย