กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา
โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมา ยกเครื่องบริการเป็นที่พักใจประชาชน 4 จังหวัดอีสานตอนล่างที่ป่วยทางจิต เน้นสุขสบาย อบอุ่นเหมือนอยู่บ้าน นำเทคโนโลยีมาช่วยบริการทุกแผนก ใช้หุ่นยนต์จัดยาเสร็จใน 15 นาที มีระบบเตือนนัดผู้ป่วยล่วงหน้า จัดห้องคาราโอเกะ
ในหอนอนผู้ป่วยช่วยสปาใจและฟื้นด้านสังคมดีขึ้น เชื่อมโยงการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องถึงระดับชุมชน สร้างความมั่นใจสังคม และประหยัดค่ารักษาอาการป่วยกำเริบซ้ำจากขาดยาได้ปีละกว่า 20 ล้านบาท
วันนี้ (18 มีนาคม 2562) นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาล(รพ.)จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ แถลงข่าว เนื่องในวันครบรอบ 54 ปีการเปิดบริการของโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2508 เป็นต้นมาว่า โรงพยาบาลได้พัฒนาระบบบริการมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีขนาด 270 เตียง เป็นศูนย์วิชาการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการ และเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกวัยที่อาการรุนแรงยุ่งยากซับซ้อนประจำเขตสุขภาพที่ 9 ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และสุรินทร์ ซึ่งมีประชากรทั้งเขตรวม 6,764,699 คน คาดว่าจะมีประชาชนมีอายุ 18 ปีขึ้นไปเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพจิตประมาณร้อยละ 13 หรือประมาณ 6 แสนคน
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป มีเป้าหมายพัฒนาโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ให้เป็นที่พักใจของประชาชนที่เจ็บป่วยทางใจ เป็นโรงพยาบาลสมัยใหม่หรือสมาร์ท ฮอสปิตอล (Smart Hospital) สอดรับยุค 4.0 ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขอย่างสมบูรณ์แบบ มาตรฐานสากล อาคารสถานที่ร่มรื่น สะอาด ปลอดภัย บรรยากาศสุขสบาย ที่แผนกผู้ป่วยนอก ซึ่งมีผู้ใช้บริการวันละ 350 คน ได้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว ผู้ใช้บริการใช้บัตรประชาชนใบเดียว และใช้มือถือตรวจสอบคิวรอพบแพทย์ได้ ใช้หุ่นยนต์ (Robot) จัดยาที่มีกว่า 200 รายการให้ผู้ป่วย มีความแม่นยำ ใช้เวลาเพียง 15 นาที นับเป็นแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและติดคิวอาร์โค้ด (QR code) ที่ซองยาเพื่อให้ผู้ป่วยและญาติ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสแกนดูรายละเอียดตัวยาและกินอย่างถูกต้อง และนำระบบส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส (SMS) มาใช้แก้ไขปัญหาขาดนัดผู้ป่วยจิตเวชรายเก่า ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่สุดทำให้อาการป่วยกำเริบซ้ำทำให้อาการแย่ลง โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องติดตามผลการรักษาใกล้ชิดเป็นกรณีพิเศษ อาทิ รายเสี่ยงก่อความรุนแรง มีประวัติเคยทำร้ายตัวเอง หรืออาการกำเริบบ่อยซึ่งมี 5,000 กว่าคน แพทย์นัดตรวจเฉลี่ยวันละ 60 คน โดยจะส่งเตือนก่อนวันนัด 1 วัน
ที่แผนกผู้ป่วยใน ซึ่งมีผู้ป่วยอาการรุนแรงนอนพักรักษาวันละ 280-300 คน ส่วนใหญ่เป็นชาย โดยได้ปรับโฉมหอนอนให้มีความอบอุ่น ปลอดภัย สร้างความกลมกลืนการใช้ชีวิตให้เหมือนบ้านที่สุด และดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยคืนความเป็นมนุษย์คนเดิมให้สมบูรณ์แบบที่สุดทั้งกาย ใจ จิตวิญญาณและสังคม ผู้ป่วยสวมชุดที่ไม่มีตราของโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น และทุกหอนอนได้จัดห้องพักผ่อน
มีคาราโอเกะให้ผู้ป่วยได้ร้องเพลงทุกวัน ซึ่งจะเป็นการสปาใจ ฟื้นฟูทักษะทางสังคมให้ผู้ป่วยมีสัมพันธภาพกับผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีความสุข ใช้ประสาทสัมผัสทั้งการดู การฟัง การเปล่งเสียงร้อง ควบคุมจังหวะทำให้มีสมาธิดีขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยได้ผ่อนคลายด้วยกัน และจัดมุมสำหรับให้ญาติเข้าเยี่ยมอาการได้ทุกหอนอน พร้อมทั้งจัดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่อาการดีแล้ว เพื่อกลับไปอยู่ในชุมชนใน 4 จังหวัด และเชื่อมโยงระบบการดูแลต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ สามารถติดตามอาการได้ทางโปรแกรมอัตโนมัติได้ทุกคน โดยต่อวันโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาฯได้จำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้านเฉลี่ย 14 คน
"จากการประเมินผลในรอบ 2 เดือนหลังจากที่ปรับระบบบริการแนวใหม่ นอกจากผู้ป่วยไม่แออัดแล้ว ปัญหาผู้ป่วยขาดนัดลดลง 3 เท่าตัว เหลือเพียงร้อยละ 5 จากเดิมที่ขาดประมาณร้อยละ 15 สร้างความมั่นใจสังคมยิ่งขึ้น โดยผู้ป่วยที่อาการกำเริบซ้ำ 1 คน จะใช้ค่าใช้จ่ายดูแล 8,400 บาท ต่อครั้ง คาดว่าจะประหยัดค่ารักษาส่วนนี้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนอยู่ในระบบการดูแลอย่างต่อเนื่อง มีคุณภาพชีวิตดี สามารถใช้ชีวิตในชุมชนได้นานถึง 6 เดือนตามมาตรฐานสากลได้สูงถึงร้อยละ 98 ผู้ป่วยที่มีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย ไม่กลับไปทำซ้ำได้สูงถึงร้อยละ 97" นายแพทย์กิตต์กวีกล่าว