กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ คือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลและภาคเอกชน ตั้ง SPACE-F เร่ง FoodTech โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. จำนวน Startup ในประเทศไทย
1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของ NIA มีจำนวน 1,700 ราย
1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มี SMEs/New Startup ที่จดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้ว จำนวน 198 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้ว จำนวน 144 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้ว จำนวน 114 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 10 ราย 8 ราย และ 3 ราย ตามลำดับ
1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มียอดรวมของการอนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว จำนวน 53 ราย วงเงินรวม 1,428.2 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1 ราย มูลค่าวงเงินลงทุน 35 ล้านบาท) โดยมี Startup จำนวน 22 ราย ที่ได้รับการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 511.8 ล้านบาท
2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย
2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียน
บนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 400 ราย
2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์จำนวนทั้งสิ้น 39 ราย
3. กิจกรรมสำคัญในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
3.1 โครงการ Startup Thailand League 2019 : Coaching Camp ครั้งที่ 1 ภาคเหนือ
NIA จัดโครงการ Startup Thailand League 2019 : Coaching Camp ครั้งที่ 1 ขึ้นเมื่อวันที่ 22 – 24 กุมภาพันธ์ 2562 ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้การเริ่มต้นเป็น Startup จากทีมโค้ชผู้มีประสบการณ์กับ Startup พร้อมสอนเทคนิคความรู้และคำแนะนำ รวมทั้งมีการจำลองเหตุการณ์ Pitching ก่อนลงแข่งขันจริง โครงการดังกล่าวจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน โดยครั้งที่ 2 จัดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในระหว่างวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2562 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และครั้งถัดไปจะจัดขึ้นที่ภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จังหวัดสงขลา นักศึกษาที่สนใจโครงการดังกล่าวสามารถสมัครเข้าร่วมฟรีได้ที่ http://startupthailandacademy.org/uleague
3.2 โครงการ Chiangmai TechFest 2019
NIA ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดโครงการ Chiangmai TechFest 2019 ขึ้น เมื่อวันที่ 11 – 17 กุมภาพันธ์ 2562 ณ Chiangmai&Co Coworking Space ด้านเทคโนโลยีของจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการรวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนความเห็นของนักพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ท้องถิ่นในบรรยากาศแบบเป็นกันเอง นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัด Workshop ในเรื่องต่าง ๆ เช่น Bitcoin & Blockchain 101 และ Internet of Things (IoT) ด้วย
3.3 NIA ร่วมมือกับบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยมหิดล ตั้ง SPACE-F เร่ง FoodTech ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ รศ. ดร. สิทธิวัฒน์ เลิศศิริ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามเป็นพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้ง "SPACE-F" โครงการด้าน FoodTech Incubator and Accelerator Program เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2019 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้าง DeepTech Startup ด้านอาหารให้กับประเทศ เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการส่งออกจำนวนมาก แต่ยังไม่มี Startup ที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงในอุตสาหกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ พันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งโครงการที่มาจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา จะให้ความช่วยเหลือ Startup ในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กล่าวคือ NIA จะเป็นตัวกลางเชื่อมโยงระบบนวัตกรรมและสนับสนุนเงินทุน ภาคเอกชนผู้ส่งออกอาหารจะให้ความรู้ Know How ในการทำตลาดจริง และภาคการศึกษาให้ความสนับสุนนด้านสถานที่ ห้องปฏิบัติการงานวิจัย นักวิจัย องค์ความรู้ ตลอดจนผลงานวิจัย โดย NIA คาดว่าจะสามารถเริ่มโครงการ SPACE-F ภายในเดือนพฤษภาคม 2562 และตั้งเป้าว่าจำนวนวิสาหกิจเริ่มต้นด้านธุรกิจนวัตกรรมอาหารในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 60 ราย ภายในระยะเวลา 3 ปี